หมายเหตุสถานการณ์ :ลุ้นระทึก..โค้งสำคัญ ปฏิรูปเปลี่ยนผ่าน-ไม่ผ่าน ประเทศไทย

2017-08-24 11:35:50

หมายเหตุสถานการณ์ :ลุ้นระทึก..โค้งสำคัญ ปฏิรูปเปลี่ยนผ่าน-ไม่ผ่าน ประเทศไทย

Advertisement

ลุ้นระทึก..โค้งสำคัญ ปฏิรูปเปลี่ยนผ่าน-ไม่ผ่าน ประเทศไทย


จะว่าไปรายชื่อคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 120 คน จากทั้งหมด 11 ด้าน ที่ ครม.แต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญเมื่อกลางเดือนส.ค.2560 ที่ผ่านมาภาพรวมก็จัดว่าพอรับกันได้ แม้ว่าบางคณะยังมีความคับแคบในส่วนผสม เช่น ชุดปฏิรูปพลังงาน แต่อีกหลายชุดส่วนผสมก็กลมกล่อม และแข็งแรงดี เช่น ชุดปฏิรูปสื่อ,ชุดป้องกันและปราบปรามการทุจริต,ชุดปฏิรูปด้านกฎหมาย เป็นต้น 

แต่อย่างไรก็ตามสุดท้ายแล้วก็ต้องตามไปดูผลงานของคณะกรรมการแต่ละด้านอีกทีว่าจะแค่ไหนอย่างไร...โน่นแหละ..คำตอบสุดท้ายในการจัดทำแผนปฏิรูปที่จะได้รู้ดำรู้ดีรู้หมู่รู้จ่าก็เดือน มี.ค.2561

บรรทัดนี้ต้องย้ำกับท่านผู้อ่านอีกครั้งว่า บ้านเมืองของเรากำลังเข้าสู่โหมดของการปฏิรูป และการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติอย่างเอาจริงเอาจัง เป็นช่วงสำคัญของการ "เปลี่ยนผ่าน" ประเทศกันเลยทีเดียวก็ว่าได้



กล่าวสำหรับการปฏิรูปนอกเหนือจากกรรมการ 11 ด้านที่ตั้งมาแล้ว 120 คน และอาจแต่งตั้งเพิ่มเติมให้เต็มแม็กอีก 45 คนนั้น ก่อนหน้านี้ ครม.ได้แต่งตั้งคณะปฏิรูปแบบไฟท์บังคับไปแล้ว 2 คณะตามรัฐธรรมนูญมาตรา 261 และ 260 กำหนดไว้คือ คณะกรรมการปฏิรูปด้านการศึกษา และ คณะกรรมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ)

คณะปฏิรูปทั้ง 11 ด้านดังกล่าวจะต้องจัดทำแผนการดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติที่ปลายเดือน ส.ค.นี้ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติตามรัฐธรรมนูญก็จะบังเกิดขึ้น ซึ่งทั้งหมดจะมีทั้งหมด 34 คน   ตอนนี้ 17 คนโดยตำแหน่งก็ทราบนามทราบตำแหน่งกันอยู่แล้ว ดังนี้

พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็น ประธานกรรมการ,ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นรองประธานกรรมการ คนที่ 1 , ประธานวุฒิสภา เป็นรองประธานกรรมการ คนที่ 2 ,รองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นรองประธานกรรมการ คนที่ 3

ส่วนกรรมการโดยตำแหน่งคนอื่นๆ ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, ผู้บัญชาการทหารบก,ผู้บัญชาการทหารเรือ,ผู้บัญชาการทหารอากาศ, ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.), เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.), ประธานกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ, ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ,ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และประธานสมาคมธนาคารไทย



นอกเหนือจากกรรมการโดยตำแหน่งแล้วอีก 17 คน จะเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งขณะนี้ได้มีเปิดรายชื่อที่ยังไม่เป็นทางการมาให้ได้ยลยินกันแล้ว ล้วนแล้วแต่บิ๊กเนมแต่ส่วนมากก็”หน้าเดิม” อาทิ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการผู้อ นวยการใหญ่องค์การการค้าโลก(WTO),ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ,,นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้ที่บริหารธนาคารกสิกรไทย,ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ,กานต์ ฮุนตระกูล อดีตกรรมการผู้จัดการบ.ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน),ชาติศิริ โสภนพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) เป็นต้น

ชื่อเหล่านี้ยังไม่ยืนยัน ต้องรอรายชื่อจริงปลายเดือนนี้อีกครั้งหนึ่ง

คณะปฏิรูปประเทศกับคณะยุทธศาสตร์ชาติเป็นเสมือนแฝดน้องแฝดพี่ จะต้องทำงานเชื่อมประสานสอดคล้องกัน คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาตินั้นเป็นเสมือน “ซุปเปอร์บอร์ด”ของประเทศ

คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติหรือซุปเปอร์บอร์ดจะไปจัดตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน ๆละไม่เกิน 15 คนเพื่อจัดทำร่างยุทธศาสตร์เบื้องต้น...

ก็ต้องบอกกล่าวกันตรงนี้ว่า รูปแบบและจำนวนคณะกรรมการอาจจะทำให้ดูเหมือนรกรุงรังและมีคนจำนวนไม่น้อยถามว่ารัฐประหารมาแล้ว 3 ปีทำไมเพิ่งมาศึกษาจัดทำแผนโน่นนี่นั่นกันอีก ก็ต้องบอกว่าทั้งคณะกรรมการปฏิรูปและคณะจัดทำยุทธศาสตร์ชาติเปรียบไปก็เสมือนพ่อครัว ทำหน้าที่ปรุงอาหารโดยใช้ทรัพยากรที่ผ่านการศึกษาค้นคว้ามาแล้วจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.),สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ตลอดคณะกรรมการปฏิรูป6คณะของรัฐบาลหรือคสช.ที่มีอยู่เป็นกองพะเนินเทินทึก อีกทั้งต้องรับฟังความเห็นเพิ่มเติมจากประชาชน ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้ด้วย

มองให้ลึกซึ้งและอย่างเอาใจช่วยก็ต้องบอกว่า..ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปหนนี้เป็นไฟท์บังคับตามรัฐธรรมนูญที่จะต้องช่วยกันให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่าน...

แต่จะอย่างไรก็ตามปรากฏการณ์และคำถามจากหลายภาคส่วนในขณะนี้ก็คือ ดูเหมือนว่าผู้คนในประเทศไม่น้อยที่ยังสับสนว่ายุทธศาสตร์ 20 ปี ประเทศไทยจะบ่ายหน้าไปสู่หนใดกันแน่ ประเทศไทย4.0 คืออะไรและอย่างไร ทำไมเราต้องหลุดพ้นจากประเทศที่มีรายได้ปานกลาง เราจะให้ความสำคัญในภาคปฏิบัติกับ “ศาสตร์พระราชา –การพัฒนาที่ยังยืน” มากเท่ากับที่พร่ำพูดกันหรือไม่



นอกจากนั้นทำอย่างไรที่แผนพัฒนายุทธศาสตร์ชาติ20ปีกับแผนพัฒนา 5 ปีของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือ “สภาพัฒน์”จะสอดคล้องสัมพันธ์กันเป็นหนึ่งเดียว และรอบนี้เป็นครั้งแรกที่สภาพัฒน์ฯจะทำหน้าที่เป็นฝ่ายธุรการ-เลขานุการให้กับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน

ไม่แต่เท่านั้นที่น่าตามไปดูยิ่งก็คือ การปฏิรูป-เปลี่ยนผ่านประเทศไทยที่ดูเหมือนว่ายังวางน้ำหนัก-บทบาทไว้ที่ กลุ่มทุน-ราชการ และพยายามสร้างความร่วมมือเข้มแข็งภายใต้ร่วม “ประชารัฐ” ก็ดูเหมือนจะทิ้งระยะห่างกับภาคประชาสังคม กลุ่มพลังทางสังคมที่สนับสนุนรัฐบาล-คสช.หลังการรัฐประหาร 22 พ.ค.2557ไปพอสมควร ดังนั้นยุทธศาสตร์20ปีและการปฏิรูปที่กำลังขับเคลื่อนอยู่ในขณะนี้จึงขาดสีสัน ขาดชีวิตชีวา การเป็นเจ้าของ การมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วนไปอย่างน่าเสียดาย...

แต่ก็ไม่สายเกินไปที่จะจัดทัพปรับแถวกันใหม่ให้ เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านประเทศไทยหนนี้..ผ่านไปได้จริงๆ ไม่ใช่ยังติดหล่มหรือหลุมขวากเดิมๆ