10 เทคนิคอ่านใจ...เพื่อนร่วมงานให้อยู่มือ

2017-08-24 07:00:34

10 เทคนิคอ่านใจ...เพื่อนร่วมงานให้อยู่มือ

Advertisement

เพราะทักษะการสื่อสารในที่ทำงานในรูปแบบ “การสื่อสารเชิงอวจนะ” ไม่ใช่เพียงแต่เป็นการสื่อสารที่ไม่ต้องใช้คำพูดให้ต้องเหนื่อยเท่านั้น หากแต่ยังช่วยให้คุณสามารถถ่ายทอดความรู้สึกจริงๆ ได้ดีขึ้น และที่สำคัญคือจะทำให้คุณคาดเดาและรับรู้ถึงลักษณะนิสัยและความรู้สึกที่แท้จริงของเพื่อนร่วมงานของคุณได้แม้ว่าเขาไม่ทันได้เอ่ยวาจาใดๆ มาดูกันว่าการแสดงออกที่บ่งบอกถึงลักษณะนิสัยของคนในสังคมที่คุณอยู่ร่วมด้วยนั้นสามารถดูจากอะไรได้บ้าง

ภาพ Tom Wang / Shutterstock.com

1. ภาษากาย : ท่าทางการนั่ง ยืน แกว่งแขน การวางมือและเท้าประกอบเวลาพูด
2. การแสดงออกทางสีหน้า : เป็นตัวบ่งบอกถึงอารมณ์และความรู้สึกได้ชัดเจนที่สุด โดยดูจากการเคลื่อนไหวของดวงตา คิ้ว และปากก็สามารถรู้ได้ทันที
3. สายตา : เป็นสิ่งที่มีพลังทั้งเรียกความสนใจ สร้างไมตรี หรือกระทั่งทำลายความรู้สึกดีๆ ได้ หากสังเกตสายตาของผู้ที่เราพูดด้วยได้ ก็จะรู้ได้ว่าเขาเป็นมิตรหรือไม่เป็นมิตรกับเรา
4. อิริยาบถ : คล้ายกับภาษากาย แต่จะมีการแสดงออกที่ซับซ้อนกว่านั้น มีการเปลี่ยนท่าทางตามความรู้สึก เช่น นั่งๆ อยู่แล้วเอนหลังพิงพนักเก้าอี้พลางหลับตาลง



5. อากัปกิริยาที่แสดงออก : เป็นท่าทางแสดงออกอัตโนมัติที่คนเรามักจะทำโดยไม่รู้ตัว เช่น เกาศีรษะ กระดิกเท้า ย่นจมูกฟุดฟิด เป็นต้น


ภาพ  Monkey Business Images / Shutterstock.com

6. เสื้อผ้าหน้าผม : เป็นจุดสังเกตจุดแรกที่สามารถบ่งบอกถึงสไตล์และความชอบของคนๆ หนึ่งได้โดยเฉพาะผู้หญิงนั้นจะสังเกตได้ง่ายมากจากสไตล์การแต่งหน้า ทรงผม เสื้อผ้าใส่ รองเท้าที่สวม และกระเป๋าที่ใช้หิ้ว
7. การตกแต่งโต๊ะทำงาน : เช่นเดียวกับเสื้อผ้าหน้าผม หากคุณอยากรู้ว่าเขามีรสนิยมหรือความชอบแบบใดลองสังเกตที่โต๊ะทำงานเขาอยู่ อีกทั้งยังบ่งบอกได้ถึงลักษณะนิสัยของคนๆ นั้นได้อย่างเช่น หากโต๊ะทำงานของเขาสะอาดเรียบร้อย แสดงออกถึงความมีระเบียบในตัว
8. ช่องว่าง : การเว้นระยะห่างระหว่างคนสองคนสามารถบ่งบอกได้ถึงระดับของความใกล้ชิดสนิทสนม



9. การสัมผัส : หากอีกฝ่ายพูดพลางจับมือหรือแตะไหล่คุณ ก็เป็นการแสดงความรู้สึกอีกทางหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าเขาให้ความสำคัญกับคุณพอสมควร แต่...ไม่เกี่ยวกับการถูกเพศตรงข้ามแตะเนื้อต้องตัวนะจ๊ะ
10. โทนเสียง : สำหรับการพูด สิ่งที่บ่งบอกความรู้สึกของผู้พูดได้ดีที่สุดคือน้ำเสียง อีกทั้งยังบ่งบอกถึงความน่าเชื่อถือและความมั่นใจของผู้พูด

การสังเกตและอ่านลักษณะท่าทาง การแสดงออก และลักษณะภายนอกของเพื่อนร่วมงานทั้ง 10 ประการนี้ หากได้ลองทำอย่างน้อย 2 ข้อขึ้นไปแล้ว รับรองว่าคุณจะสามารถวางตัวและปรับตัวเข้ากับเพื่อนร่วมงานแต่ละคนได้ตามลักษณะที่เขาเป็น ไม่ว่าแต่ละคนที่คุณพบเจอจะมีความแตกต่างกันไปก็ตาม...อันจะส่งผลให้สามารถร่วมงานกันได้อย่างราบรื่น รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานเป็นทีมได้แน่นอน