หมายเหตุสถานการณ์: ต่างเขตต่างเบอร์ VS พรรคเดียวเบอร์เดียว

2017-08-14 11:50:56

หมายเหตุสถานการณ์: ต่างเขตต่างเบอร์ VS พรรคเดียวเบอร์เดียว

Advertisement

ต่างเขตต่างเบอร์ VS พรรคเดียวเบอร์เดียว
 
ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 นั้นชัดเจนว่าเลือกตั้งครั้งหน้าใช้ระบบจัดสรรปันส่วนผสม จำนวน ส.ส.ทั้งหมดมี 500 ที่นั่ง แบ่งเป็น ส.ส.เขต 350 คน ส.ส.จากบัญชีรายชื่ออีก 150 คน ดังนั้น ผู้สมัครมี 2 ส่วนคือ ผู้สมัคร ส.ส.เขต (ไม่เกิน 350 คน/พรรค) และผู้สมัครบัญชีรายชื่อ (ไม่เกิน 150 คน/พรรค) 

การเลือกตั้ง ส.ส.เขตนั้นใช้ระบบ “เขตเดียวคนเดียว” คือ ผู้ใช้สิทธิ์กาได้เบอร์เดียว ใครได้คะแนนมากสุดหรือได้ลำดับ 1 ในเขตนั้นเป็น ส.ส.ไปเลย

แต่คะแนนของผู้ที่สอบตกไม่ได้สูญเปล่าจะถูกนำไปรวมกับคะแนนของผู้สมัครคนอื่นๆ ของพรรค ทั้งที่สอบได้สอบตกเพื่อเป็นคะแนนรวมทั้งประเทศของพรรค จำนวน ส.ส.พรรคไหนจะได้กี่ที่นั่งคำนวณยอดรวมจากคะแนนของผู้สมัคร ส.ส.เขตทุกเขตที่พรรคนั้นได้รับ

เพราะหัวใจสำคัญของการเลือกตั้งครั้งนี้คือใช้บัตรใบเดียว ไม่ใช่ 2 ใบแบบที่ผ่านๆ มา บัตรใบเดียวก็คือบัตรผู้สมัคร ส.ส.เขตที่จะรวมกันเป็นคะแนนพรรคนั่นเอง ไม่มีบัตรหรือเบอร์ของพรรค 

วิธีคิดจำนวน ส.ส.ก็เอาคะแนนรวมของผู้สมัครทุกเขตทุกพรรค (ไม่นับรวมคะแนนของพรรคที่ไม่ส่งผู้สมัครบัญชีรายชื่อ ซึ่งในทางปฏิบัติคงไม่มี) มารวมกัน สมมติรวมแล้วได้ 35 ล้าน คะแนน 35 ล้านดังกล่าวจะคิดเป็นจำนวน ส.ส. 500 ที่นั่ง ถ้าพรรค ก.ไก่ได้คะแนน 10 ล้านเสียง เทียบบัญญัติไตรยางศ์ก็จะได้ ส.ส.142 คน สมมติพรรค ก.ชนะที่ 1 หรือได้ส.ส.จากเขตเลือกตั้งมาแล้ว 120 คน ก็เอาผู้สมัครบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1-22 ไปเติมให้ครบ 142 คน 

ขณะเดียวกันสมมติพรรค ข.ไข่ พรรคเล็กๆ มีกำลังส่งผู้สมัครแค่ 100 เขต ไม่มีผู้สมัครคนไหนชนะเลือกตั้งหรือได้ที่ 1 ในเขตเลย แต่คะแนนทุกคะแนนมีความหมายหรือไม่ตกน้ำ เอาคะแนนของผู้ลงสมัครที่สอบตกทั้ง 100 เขตมารวมกัน ได้ 3.5 แสนคะแนน เทียบสัดส่วนแล้วจาก 35 ล้านจะได้ถึง 5 ที่นั่ง ก็เอาผู้สมัครบัญชีรายชื่อลำดับ 1-5 เป็น ส.ส. 

ขณะนี้ปัญหาที่กำลังถกเถียงกันก็คือ ข้อเสนอของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่กำลังจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส.ระบุว่า ในการเลือกตั้งนั้นจะไม่ใช่พรรคเดียวเบอร์เดียวเหมือนกันทั้งประเทศอีกแล้ว แต่จะใช้หลัก ”แยกเบอร์” หรือ “ต่างเขตต่างเบอร์” หรือพูดภาษาชาวบ้านต้องว่า “เบอร์ใครเบอร์มัน” แล้วแต่การจับสลาก 

ฝ่ายที่เห็นว่าควรยึดหลัก “พรรคเดียวเบอร์เดียว” เหมือนกันทั้งประเทศตามเดิมเห็นว่าวิธีนี้เป็นการสนับสนุนระบบพรรคตรงตามเจตนารมย์รัฐธรรมนูญ ที่สำคัญประชาชนคุ้นเคย ไม่สับสนวุ่นวาย พรรคการเมืองที่เห็นด้วยกับหลักการนี้นำโดยพรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา เป็นต้น นอกจากนั้น กกต.ก็ยังชักธงเชียร์ว่ารูปแบบนี้จัดการเลือกตั้งได้ง่ายกว่าแบบอื่น 

ฝ่ายที่เห็นว่าควร “แยกเบอร์” เหตุผลหลักก็คือ เพื่อให้พรรคการเมืองให้ความสำคัญกับตัวผู้สมัครที่จะต้องเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ คนในเขตเลือกตั้งให้ความยอมรับ ที่สำคัญคะแนนของผู้สมัครจะกลายเป็นคะแนนของพรรค ดังนั้นต้องไม่ดูถูกประชาชน เหมือนที่ในอดีตเคยมีการเปรียบเทียบว่า...ส่งเสาไฟฟ้าลงสมัครก็ชนะ...!!นอกจากนั้นยังป้องกันการซื้อเสียงได้ส่วนหนี่ง – พรรคการเมืองที่เห็นด้วยกับการ “แยกเบอร์” มีกระจัดกระจาย รวมทั้งส่วนใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์.. 

ดูเหมือนว่าผ่านมาสัปดาห์เศษนับแต่มีข้อเสนอนี้ กรธ.ก็ยังคงยืนหยัดในรูปแบบ “แยกเบอร์” ท่ามกลางความเห็นที่ฟุ้งกระจาย และโพลสำรวจที่ยังไม่ชี้ขาดว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ตกผลึกไปในทางไหน เพราะเห็นว่าไม่ว่ารูปแบบไหนก็มีทั้งข้อดีข้อเสีย... 

ส่วนข้อเสนอที่น่าสนใจที่มาแรงอีกข้อเสนอแต่ กรธ.คงไม่เลือกใช้ใน พ.ศ.นี้ก็คือ ข้อเสนอไม่ใช้เบอร์ แต่ให้ใช้ชื่อผู้สมัครกับโลโก้ของพรรคแทน เหมือนหลายประเทศ ความคิดนี้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นคนจุดประกาย 

จะว่าไปประชาชนผู้ใช้สิทธิ์ก็ผ่านรูปแบบการเลือกตั้งสารพัดรูปแบบ โดยเฉพาะการเลือกตั้งที่ใช้บัตรใบเดียวนั้นใช้มายาวนาน เพิ่งจะหลังรัฐธรรมนูญ 2540 ประกาศใช้ และมีการเลือกตั้งในปี 2544 /2548/2550/2554 ที่ใช้บัตรสองใบ คือมีคะแนนบัญชีรายชื่อหรือคะแนนพรรคเพิ่มขึ้นมาอีกใบ..

การที่จะถอยกลับไปใช้หลักการ “ต่างเขตต่างเบอร์” หรือ “เบอร์ใครเบอร์มัน” ก็ไม่น่าจะเป็นการถอยหลังลงคลองอย่างที่บางคนว่า และคงไม่ถึงกับทำให้ประชาชนสับสนอลเวงเรื่องเบอร์ผู้สมัคร แต่ปัญหาสำคัญประการหนึ่งมันอาจอยู่ที่รูปแบบการเลือกตั้งแบบนี้อาจทำให้พรรคขนาดใหญ่ที่เก่งกาจในการทำแคมเปญ เก่งและเนียนในการเอาผู้สมัครที่เป็นนอมินีเป็นหุ่นเชิดลงสมัคร เก่งกาจในการซื้อเสียงแบบยกพวง ยกเข่ง.. อาจจะรู้สึกว่าตัวเองได้รับผลกระทบ... 

ดูเหมือนว่าระบบ “แยกเบอร์” มันทำให้แผนการทุ่มตลาดทำได้ยาก แต่หาก “พรรคเดียวเบอร์เดียว” อาจหวานคอแร้ง..!!??