108 ปัญหาสุขภาพกับหมอรามาฯ: อาการปวดส้นเท้า สัญญาณของ “โรครองช้ำ”

2017-08-07 16:10:14

108 ปัญหาสุขภาพกับหมอรามาฯ: อาการปวดส้นเท้า สัญญาณของ “โรครองช้ำ”

Advertisement

อาการปวดส้นเท้ามีความหลากหลายซ่อนอยู่ บางอาการอาจเป็นเพียงปวดเมื่อยธรรมดา หรือเป็นอาการบาดเจ็บชั่วคราวของกล้ามเนื้อ แต่บางอาการก็อาจเป็นสัญญาณของโรคที่ต้องได้รับการรักษา ขณะที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อนและละเลยอาการป่วยนั้นไปทำให้ส่งผลเสียตามมา วันนี้เราจึงมีข้อมูลเกี่ยวกับอาการปวดส้นเท้าที่เป็นสัญาณของโรครองช้ำ เพื่อให้หลายคนได้สังเกตอาการเบื้องต้นกันและเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

ลักษณะอาการที่บ่งชี้ว่าเป็นโรครองช้ำนี้คือ อาการปวดบริเวณส้นเท้าค่อนมาด้านใน อาการปวดจะเป็นเฉพาะเวลาเดินลงน้ำหนักในช่วงแรกหลังจากตื่นนอนหรือหลังจากนั่งพักนานๆระหว่างวัน เมื่อเดินต่อไปสักพักอาการปวดจะทุเลาลง โรคนี้เป็นโรคที่คนส่วนใหญ่เป็นแต่ไม่รู้ว่าตัว พบมากในคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป

สาเหตุของโรคนั้นโดยส่วนใหญ่มักเกิดจากการยืนเป็นเวลานานๆ น้ำ, การใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสม, น้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้น และลักษณะการทำกิจกรรมที่เปลี่ยนไปจากเดิม อาทิเช่น เพิ่มระยะทางการวิ่งออกกำลังกาย การเดินหรือวิ่งบนพื้นผิวที่ต่างไปจากเดิม นอกจากนี้สาเหตุอื่นที่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรครองช้ำ ได้แก่ ผู้ที่มีลักษณะของเท้าแบน, เท้าโก่ง และเส้นเอ็นร้อยหวายตึง ทำให้การเคลื่อนไหว รับน้ำหนักของเท้าผิดปกติไป

การรักษาแบ่งออกเป็นสองประเภท ได้แก่ การรักษาโดยการไม่ผ่าตัด และการรักษาโดยการผ่าตัด
โดยส่วนใหญ่กว่า 90% ของคนไข้นั้น สามารถรักษาได้ไดยการไม่ผ่าตัด อันได้แก่
- การทำกายภาพบำบัดด้วยตัวเอง เช่า การนวดฝ่าเท้า, การแช่น้ำอุ่น และการยืดเส้นเอ็นร้อยหวาย
- การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ปรับรองเท้า, ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม และการลดน้ำหนักตัว
- การรับประทานยาบรรเทาอาการปวด แนะนำให้ทานยาแก้ปวดเท่าทีจำเป็น หรือตามคำแนะนำของแพทย์ 
- การรักษาโดยการฉีดยา เช่น การฉีด steroid หรือการฉีดเกร็ดเลือด (PRP; platelet-rich-plasma)
- การรักษาโดยการใช้คลื่นกระแทก (shock wave therapy)
เนื่องจากโรครองช้ำนั้นเป็นอักเสบเรื้อรัง ดังนั้นระยะเวลาที่ใช้รักษาจึงจำเป็นต้องใช้เวลานาน ซึ่งระยะเวลาที่ใช้ในการรักษาแต่ละคนไม่เท่ากัน บางรายอาจใช้เวลา 6-12 เดือน
ส่วนการผ่าตัดนั้นจะทำเฉพาะในกรณีที่ได้รับการรักษาแบบไม่ผ่าตัดมีอย่างครบถ้วน แต่อาการยังไม่ทุเลาลง โดยการผ่าตัดนั้นทำโดยตัดเอาเส้นเอ็นส่วนที่มีการอักเสบออก จะทำให้อาการปวดทุเลาลงได้
แม้โรครองช้ำจะไม่ใช่โรคที่อันตรายหรือร้ายแรง แต่ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ทำการรักษา เพราะอาจจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ ดังนั้นหากมีอาการปวดส้นเท้าผิดปกติควรรีบพบแพทย์ เพื่อทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที


อ.นพ.กุลพัชร จุลสำลี ภาควิชาออร์โธปิดิกส์


คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล