ศิริราชวิจัย “ซินโครตรอน” รักษาโรค

2017-07-24 18:55:47

ศิริราชวิจัย “ซินโครตรอน” รักษาโรค

Advertisement

“ศิริราช-สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน” ลงนามความร่วมมือพัฒนาวิจัยด้านการแพทย์ครั้งแรกของไทย
เมื่อวันที่ 24 ก.ค. ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ ศ.น.ท.ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผอ.สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์กรมหาชน) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาวิจัยด้านการแพทย์ครั้งแรกของไทยโดยใช้เทคโนโลยีแสงซินโครตรอน เพื่อรองรับการแข่งขันในระดับสากล โดยมี ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เกียรติเป็นประธาน
ศ.น.ท.ดร.สราวุฒิ  กล่าวว่า เทคโนโลยีแสงซินโครตรอนเป็นเทคโนโลยีแสงขั้นสูง สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในงานวิจัยหลากหลายด้าน อาทิ ด้านอาหาร ยา เครื่องสำอาง ด้านวัสดุศาสตร์ ยางและพอลิเมอร์ สิ่งแวดล้อม โบราณคดี อีกทั้งด้านอิเล็กทรอนิกส์  และอีกหนึ่งงานวิจัยที่เทคโนโลยีแสงซินโครตรอนจะเข้าไปตอบโจทย์ได้นั่นคือ งานวิจัยทางการแพทย์
สำหรับ “แสงซินโครตรอน” มีธรรมชาติเดียวกับแสงอาทิตย์หรือแสงจากหลอดไฟทั่วๆ ไป แต่มีความสว่างมากกว่าแสงในเวลากลางวันกว่า 1 ล้านเท่า มีขนาดของลำแสงเล็กได้ถึงขนาดของเส้นผม มีอำนาจทะลุทะลวงสูง สามารถตรวจวัดได้แม้สารตัวอย่างมีปริมาณน้อย และไม่ทำลายสารตัวอย่าง  แสงซินโครตรอนครอบคลุม 4 ช่วงความยาวคลื่น ตั้งแต่แสงอินฟราเรด แสงที่ตามองเห็น แสงอัลตราไวโอเลต และรังสีเอ็กซ์ ด้วยคุณสมบัติพิเศษเหล่านี้นักวิทยาศาสตร์ จึงใช้แสงซินโครตรอนในการไขความลับในระดับโมเลกุลและอะตอมได้หลากหลายวงการ