ไม่เอาน่า อย่าคิดสั้น...

2017-07-21 17:05:54

ไม่เอาน่า อย่าคิดสั้น...

Advertisement

“สาวนักเรียนนอกกระโดดตึกประชดรักเสียชีวิต”
“นักธุรกิจใหญ่ล้มละลายตัดสินใจฆ่าลูกเมีย ก่อนยิงตัวเองดับ”
“นักศึกษาซดยาฆ่าแมลงหนีหนี้พนันบอล”
สำหรับคนจำนวนมาก การพาดหัวข่าวประเภทนี้ถือเป็นเรื่องที่สามารถพบเจอได้บ่อยครั้ง จนกระทั่งกลายเป็นความเคยชิน ทว่าภายหลังจากการตัดสินใจกระทำอัตวินิบาตกรรมของโรบิน วิลเลียมส์ นักแสดงคอมเมดี้ชื่อก้องโลก เมื่อไม่นานมานี้ก็ส่งผลให้มีการหวนกลับมาตระหนักและทบทวนเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย รวมถึงโรคซึมเศร้ากันมากขึ้น

ภาพ  ESB Professional / Shutterstock.com และหลังจากเหตุช็อกโลกของ เชสเตอร์ เบนนิงตัน นักร้องนำวงลิงคิน พาร์ค ที่กำลังเป็นกระแสร้อนในตอนนี้ นิว 18 ขอนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่า เพราะเหตุใดคนจำนวนมากถึงคิดสั้นกัน และมีทางออกสำหรับบุคคลที่ตกอยู่ในสภาวะเหล่านี้อย่างไร


สถิติการฆ่าตัวตาย
ผลการสำรวจขององค์การอนามัยโลกพบว่า ในปีหนึ่งจะมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จเป็นจำนวนมากกว่า 1 ล้านคน หรือ 1 คนในทุก 40 วินาที ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายมากกว่า 8 แสนราย หรือ เฉลี่ย 1 คน ในทุกๆ 40 วินาที คาดการณ์ว่า ในปี 2563 จะมีคนเสียชีวิตด้วยปัญหาดังกล่าวถึง 1.53 ล้านคน สำหรับประเทศไทยนั้นเฉพาะในปี 2556 พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายมากกว่า 3,900 รายต่อปี คิดเป็นอัตรา 6.08 คนต่อประชากรแสนคน หรือเฉลี่ยเดือนละ 328 คน หรือวันละ 10-12 คน คิดเป็นทุกๆ 2 ชั่วโมงมีคนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน คิดเป็นชาย 3,055 คน หญิง 930 คน โดยภาคที่ประชากรฆ่าตัวตายมากที่สุดคือ ภาคเหนือ อีสาน กลาง และใต้ ตามลำดับ
ลักษณะของคนที่อาจฆ่าตัวตาย

สาเหตุของการฆ่าตัวตายนั้น ร้อยละ 60 ส่วนใหญ่มาจากปัญหาทางสังคมและจิตใจ ขณะที่สาเหตุรองลงมาคือ สุรา ยาเสพติด และโรคทางจิตเวช หรือ โรคซึมเศร้า สำหรับวัยที่มีการฆ่าตัวตายมากที่สุดคือ วัยกลางคน แต่กลุ่มวัยรุ่นก็มีแนวโน้มมากขึ้นฆ่าตัวตายเพิ่มมากขึ้น ด้วยวุฒิภาวะ อีคิว และความอดทนอดกลั้นน้อยลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสภาพสังคมทุกวันนี้ที่แม้จะมีนวัตกรรมการสื่อสารอันทันสมัย ทั้งโทรศัพท์มือถือ โลกออนไลน์ ไปจนถึงโซเชียลเน็ตเวิร์ก แต่กลับมีแนวโน้มว่าคนจะอยู่ในสภาวะโดดเดี่ยวและเป็นปัจเจกมากขึ้น ทั้งในแง่ของการปลีกตัวออกจากสังคม หรือการหมกมุ่นอยู่กับหน้าจอมากกว่าหน้าคนที่แวดล้อมอยู่


ด้วยสภาวะเช่นนี้ เมื่อตัวเองตกอยู่ในสภาวะอารมณ์ที่ตกต่ำ หาทางออกไม่เจอ จึงเลือกที่จะไม่ปรึกษาคนอื่น หากแต่ตัดสินใจหนีปัญหานั้นด้วยการฆ่าตัวตาย

ภาพ  ESB Professional / Shutterstock.comปัญหาเหล่านี้ สามารถป้องกันไว้ก่อนได้ด้วยการลองสังเกตว่า คุณ หรือคนใกล้ตัวนั้นอยู่ในข่ายของ “SADPERSONS” ตามหลัก “SAD PERSONS scale” หรือไม่ ถ้าเข้าข่ายเกิน 5 ใน 10 ข้อ โปรดเตรียมการป้องกันไว้ให้ดี
หลัก SADPERSONS 
• Sex – เพศชายมีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายสูงกว่าเพศหญิง
• Age – คนในช่วงวัยต่ำกว่า 19 ปี และสูงกว่า 45 ปีคือกลุ่มที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่ากลุ่มอื่น 
• Depression – กำลังอยู่ในสภาวะเศร้าโศก
• Previous suicide attempt – เคยพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน


• Excessive alcohol or other drug use - ติดสุราหรือยาเสพติดงอมแงม
• Rational thinking lost – อยู่ในภาวะอารมณ์อยู่เหนือเหตุผล
• Separated – เพิ่งผ่านการพลัดพราก หรือ หย่าร้าง
• Organized suicide plan or serious attempt – มีการวางแผนการฆ่าตัวตายอยู่ในใจ
• No or little social support – ไม่ได้รับการยอมรับสนับสนุนจากสังคมรอบข้าง
• Sickness or chronic medical illness – มีความทุกข์ทรมานจากโรคร้ายมายาวนาน
ธรรมะแก้ทุก(ข์)โรค


การแก้ปัญหาเบื้องต้นที่ดีที่สุดคือการรักษาไปที่ต้นเหตุแห่งทุกข์ คือใจของเรา โดยการเยียวยาที่ได้ผลดีเยี่ยมก็คือ ธรรมะ ด้วยการเจริญสมถกรรมฐานเป็นวิธีที่สามารถเยียวยาโรคซึมเศร้าได้ดีมากวิธีหนึ่ง ซึ่งมี 4 วิธีการด้วยกัน คือ

1. การเดินจงกรม 
2. การยืนภาวนาบริกรรมพุทโธกรรมฐาน 
3. การไหว้พระสวดมนต์ 
4. การนั่งสมาธิ 


ภาพ  thanatphoto / Shutterstock.com
ไม่มีทางออก...บอกทางนี้


คนที่มีความคิดอยากฆ่าตัวตายนั้นมีสภาวะติดลบในตัวมาก ทางออกจึงต้องเป็นการเพิ่มพลังงานเชิงบวกให้กับตัวเอง โดยวิธีการหนึ่งซึ่งได้ผลและมีเปอร์เซ็นต์ความสำเร็จสูงก็คือ การได้คุยกับคนที่มีพลังงานเชิงบวกมากๆ ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว คนรัก หรือ เพื่อนที่ไว้ใจ เพราะคนที่มีปัญหาหนักอกและคิดว่าตัวเองอยู่ในสภาวะหลังชนฝานั้น จำนวนมากเมื่อได้พูดคุยกับใครสักคนปริมาณความทุกข์อันหนักนานั้นก็สามารถเบาบางลงได้ แต่สำหรับคนที่ไม่รู้จะหันไปหาใคร หรือไม่อยากพูดคุยปัญหากับคนใกล้ตัว นิว 18 ขอแนะนำ 2 ตัวช่วยที่น่าจะเป็นทางออกให้กับปัญหาของคุณได้ 
1. สายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323
สายสุขภาพจิต 1323 ของกรมสุขภาพจิตจึงเกิดขึ้นเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการทางสุขภาพจิตอย่างทันท่วงทีและทั่วถึง ด้วยระบบตอบรับอัตโนมัติ ที่เปิดให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้ประชาชนทั่วไปและผู้มีปัญหาสุขภาพจิตมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตของตัวเองและคนใกล้ชิด รวมทั้งได้รับข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิต
2. สมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย
สมาคมสะมาริตันส์ (Samaritans) ก่อตั้งศูนย์สะมาริตันส์ขึ้นในปี 2496 โดยสาธุคุณแชด วาราห์มีเป้าหมายเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย โดยมีแนวทางการทำงานคือ การรับฟังปัญหาทางโทรศัพท์โดยอาสาสมัครที่ไม่เปิดเผยตัว และเก็บข้อมูลทั้งหมดเป็นความลับ เพื่อความสะดวกใจในการเปิดเผยเรื่องราว ปัจจุบันสะมาริตันส์มีศูนย์มากกว่า 350 แห่งทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2521
 
ผู้ที่มีปัญหาหนักอกอยากระบายให้ใครสักคนฟัง สามารถโทร.ไปได้ที่สมาคมสะมาริตันส์...ทุกข์คลายที่ปลายสาย เปิดให้บริการฟรีทุกวัน ตั้งแต่ 12.00 น. ถึง 22.00 น. ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-713-6793 (ภาษาไทย) หรือ 02-713-6791 (ภาษาอังกฤษ) 

นิว 18 หวังใจอย่างยิ่งว่าด้วยวิธีการเหล่านี้จะทำให้คนที่เคยหรือมีความคิดที่จะฆ่าตัวตายได้มีทางออกจากความทุกข์จนกลับมาสร้างพลังบวกให้กับตัวเองได้บ้าง ไม่มากก็น้อย เพื่อสถิติการฆ่าตัวตายที่อาจลดลงได้ แม้เพียงสักคนเดียว...นั่นก็ถือว่าน่ายินดีมากแล้ว