หมายเหตุสถานการณ์: ปฏิรูปตำรวจ : หลังยุค คมช.เหลว หลังยุค คสช.ผ่าน..!?

2017-07-06 06:15:56

หมายเหตุสถานการณ์: ปฏิรูปตำรวจ : หลังยุค คมช.เหลว หลังยุค คสช.ผ่าน..!?

Advertisement

เคยหมายเหตุเรื่อง “การปฏิรูปตำรวจตามรัฐธรรมนูญ” ไปแล้วเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. ท่านผู้อ่านสามารถอ่านย้อนหลังได้ในเว็บไซต์นี้ ซึ่งก็ไม่มีประเด็นอะไรมากนอกจากผมขึ้นโครงสร้างเอาไว้ว่า คณะกรรมการจาก 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ 1)โดยตำแหน่ง 5คน  2)เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการตำรวจ   และ 3)ผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่เคยเป็นข้าราชการตำรวจ  
ซึ่งในส่วนที่ 2) และ 3) รัฐธรรมนูญกำหนดให้จำนวนเท่ากัน  ปรากฏว่า ครม.ตั้งมากลุ่มละ 15 คน  รวม 2 กลุ่มนี้ 30 คน บวกกับโดยตำแหน่งอีก 5 ก็เป็น 35  บวกประธานอีก 1คนที่รัฐธรรมนูญระบุว่าต้องไม่เป็นตำรวจมาก่อนรวมยอดก็ 36 คน 3 โหลพอดี
         ครับ อย่างที่รับทราบไปแล้ว พล.อ.บุญสร้าง  เนียมประดิษฐ์   อดีต ผบ.สูงสุด  ได้รับเลือกเป็นประธาน
       พล.อ.บุญสร้าง ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นเพื่อนตรียมทหาร (ตท.)รุ่น 6 จปร.17.รุ่นเดียวกับ พล.อ.ประวิตร  วงศ์สุวรรณ, พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน, พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์ ฯลฯ ปัจจุบันเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
        โดยคุณสมบัติส่วนตัวที่เป็นคนไม่หวือหวา เป็นนายทหารที่ออกจะเป็นนักวิชาการ จบจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกสหรัฐอเมริกาหรือเวสต์พอยต์  (WEST POINT) ขนาด พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี ร่ำๆ จะหลุดปากออกมาว่า “อาจารย์ข้าใครอย่าแตะ”  กันเลยทีเดียว  ดังนั้นก็พอจะรับประกันได้ส่วนหนี่ง  เหลือแต่เรื่องวิสัยทัศน์เรื่องการพัฒนา ปฏิรูปตำรวจเท่านั้นที่ต้องไปตามไปดูว่า พล.อ.บุญสร้าง มีความคิดอ่านอย่างไร..         อย่างไรก็ตาม  เท่าที่ผมสดับตรับฟังกึ่งๆ ทำโพลส่วนตัวพบว่า  จุดที่คำสั่งแต่งตั้ง “คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม(ตำรวจ)” ถูกตั้งคำถามมากที่สุดก็คือ  ทำไมคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในส่วนที่ไม่ใช่ตำรวจ 15 คน ไม่มีรายชื่อของบุคคลที่มีวิสัยทัศน์  มีความเห็นต่าง หรือมีชุดความคิดในการปฏิรูปตำรวจที่ชัดเจนไปร่วมเป็นกรรมการบ้าง ดังเช่น กลุ่ม “เครือขายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (Police  Watch)”  ที่เคยจับมือภาคประชาชน 42 องค์กรยื่นข้อเสนอปฏิรูปตำรวจต่อรัฐบาล  หากเปิดพื้นที่ให้พวกเขาแม้เพียงที่นั่งเดียว  มันก็น่าจะช่วยให้คำว่า “การมีส่วนร่วม” เป็นจริงมากขึ้น  เพราะใน 15 คนหลังที่ไม่เกี่ยวกับตำรวจมีอยู่จำนวนหนึ่งที่เป็นพวก “หน้าเดิมๆ” ไม่แต่งตั้งเข้ามาก็ได้..



         อย่ากระนั้นเลย แม้แต่อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม ที่ถูกเด้งมาอยู่สำนักรัฐมนตรีโดยอ้างว่ามาให้ทำงานปฏิรูปตำรวจ อย่าง นายชาญเชาว์ ไชยานุกิจ  ก็ไม่ปรากฏรายชื่อ..
          อีกประเด็นหนึ่งที่วิจารณ์กันมากก็คือ..ทำไมตำรวจเยอะจังมีมากถึง 15 คน  ส่วนนี้ก็ช่วยไม่ได้จริงๆ เพราะคนทั่วไปจะไม่ทราบว่ามาตรา 260 กำหนดเอาสเปกและสัดส่วนเอาไว้  อันนี้ก็คงต้องยกประโยชน์ให้จำเลย...แต่สุดท้ายก็อยู่ที่บทพิสูจน์ล่ะว่าตำรวจที่มากันพรึ่บนั้นจะกล้าผ่าตัด-ปฏิรูปองค์กรตัวเองอย่างไร..
         ผมเคยเขียนในคอลัมน์นี้ไปครั้งหนึ่งว่า  เมื่อปี 2550 พล.อ.สุรยุทธ  จุลานนท์  นายกรัฐมนตรี หลังการรัฐประหารโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) มีความมุ่งมั่นประเภทลึกสุดใจว่า..อะไรทำไม่สำเร็จก็อาจจะไม่เป็นไร  ขอให้การพัฒนาปฏิรูปงานตำรวจสำเร็จสักอย่างก็แล้วกัน จำได้ว่าผมเคยไปเป็นพิธีกรดำเนินการเสวนาทีทำเนียบรัฐบาลอยู่ครั้งสองครั้ง...ตำรวจยกทัพมาแสดงความเห็นกันเต็มทำเนียบ..
        สุดท้าย ”รัฐบาลขิงแก่” ที่ตั้งใจดีต่อบ้านเมืองไม่สามารถทำอะไร(ตำรวจ)ได้...


        วันนี้ พ.ศ.นี้รัฐบาลหลัง คสช.ยังไปไม่สุดทาง  แต่อย่างน้อยที่ทำได้แล้วคือ ผลักดันให้การปฏิรูปตำรวจตามกระแสการเรียกร้องของมวลมหาประชาชน  บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยการตั้งคณะกรรมการปฏิรูป..โดยภารกิจปฏิรูปคือแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อตอบโจทย์การปฏิรูปใน 3 ด้าน  ดังที่ ดร.วิษณุ เครืองาม  รองนายกฯ ไขขานไว้
          1)โครงสร้าง สังกัด  อำนาจหน้าที่ 2)อำนาจการสอบสวนจะแยกหรือไม่ และ 3)การบริหารงานบุคคล  การแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่มีการซื้อขายตำแหน่ง
         เชื่อเป็นการส่วนตัวว่า  ถ้ารัฐบาลได้เปิดพื้นที่เติมเต็มให้ภาคประชาสังคมได้มีส่วนร่วมอย่างจริงใจจริงจัง การปฏิรูปตำรวจที่ว่ายากแสนยาก อาจจะประสบความสำเร็จได้บ้างในบางส่วน  แต่ถ้ายังคับแคบด้วยคณะกรรมการหน้าเก่าๆ หน้าเดิมๆประเภท พรรคพวก- เพื่อนพ้อง-น้อง-นาย...ไม่ให้ราคา ไม่ชายตาแลกลุ่มอื่นๆที่เขาก็ต่อสู้และรักบ้านรักเมืองเหมือนกันบ้าง  ก็เหนื่อยหน่อย..
         ดูกันต่อไปครับ