คพ.มั่นใจเอาอยู่ปัญหาฝุ่นละออง

2019-01-14 14:35:54

คพ.มั่นใจเอาอยู่ปัญหาฝุ่นละออง

Advertisement

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษชี้ปัญหาฝุ่นละอองเมืองกรุงยังไม่วิกฤตเชื่อเอาอยู่ ระบุสถานการณ์ไม่รุนแรงเท่าปีที่แล้ว วอนประชาชนตระหนักแต่อย่าตระหนก คาด 15 ม.ค.สภาพอากาศเอื้อทำฝนหลวง

เมื่อวันที่ 14 ม.ค.นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ตามข้อสั่งการ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสร้างความรู้และความเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับการดูแลป้องกันตัวเองจากฝุ่นละออง หลังจากที่พบว่าในระยะนี้ กทม.และปริมณฑล มีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ในอากาศอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ และกำชับให้แก้ไขปัญหาโดยเร็วที่สุดนั้น ที่ผ่านมาได้ร่วมประชุมหารือกับหน่วยงานต่างโดยมี พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน ได้สั่งการให้ คพ.ประสานแก้ไขปัญหาร่วมกับ กทม. จังหวัดปริมณฑล กรมอนามัย กรมควบคุมโรค กองบังคับการตำรวจจราจร กรมการขนส่งทางบก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามมาตรการและแนวทางการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหา PM2.5

นายประลอง กล่าวว่า คพ.ได้ประสานหน่วยงานต่างๆเช่น กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ซึ่งให้ความช่วยเหลือในการทำฝนเทียมเพื่อลดฝุ่นมาตลอด ทราบว่าทางกรมฝนหลวงฯก็ติดตามปัญหาเพื่อดำเนินการช่วยเหลืออยู่ ซึ่งมีปัจจัยหลายๆด้านทั้งด้านความชื้นและทิศทางลม หากในอากาศมีความชื้นไม่เพียงพอก็ไม่สามารถดำเนินการได้ ทั้งนี้คาดว่าในวันที่ 15 ม.ค. อาจมีโอกาสจะทำฝนเทียมได้ ในส่วนอื่นๆได้ประสานกองบัญชาการตำรวจจราจร ในการตรวจจับรถควันดำบนเส้นทางจราจร ร่วม ขสมก.ตรวจรถโดยสาร ขสมก.ในอู่ต่างๆ พร้อมร่วมประชุมและประสาน กทม. เพื่อดำเนินการตามมาตรการและแนวทางการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหา PM2.5 ทั้งให้ทุกเขตกวาดล้างถนนอย่างเข้มข้นทุกวัน รวมทั้งการประสานกระทรวงสาธารณสุขในการเตรียมการและแจกหน้ากากอนามัยให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่เสี่ยง

“เชื่อว่าสถานการณ์ PM 2.5 ในปีนี้ ยังไม่ถึงขั้นวิกฤต และเราเอาอยู่ ขอให้ประชาชนมีความตระหนักแต่อย่าตระหนัก เพราะสถานการณ์ไม่ได้รุนแรงเท่ากับปี 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งค่าสูงสุดเคยไปแตะที่ 120 -130 มคก./ลบ.ม. ในช่วง 1-2 วัน ส่วนปีนี้ตรวจพบค่าอยู่ระหว่าง 70- 100 มคก./ลบ.ม. เศษเท่านั้น ซึ่งหน่วยงานภาครัฐได้เตรียมความพร้อมในการรับมือไว้แล้ว คาดว่าสถานการณ์ยังต้องเฝ้าระวังในช่วง 1-2 สัปดาห์จากนี้”นายประลองกล่าว

เมื่อถามถึงกรณีที่กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ประเทศไทย) ระบุว่าไทยเป็นประเทศที่เกิดปัญหามลพิษเป็นอันดับ 9 ของโลก ว่า คงเป็นข้อมูลจากภาคประชาชน ซึ่งตนคิดว่าเป็นข้อมูลที่ดี และพร้อมเปิดใจรับฟังทุภาคส่วน อย่างไรก็ตามข้อมูลที่ระบุว่า PM 2.5 มีแหล่งกำเนิดจากพื้นที่อีอีซีนั้น ในพื้นที่ จ.ระยองเองนั้นพบค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้ต่ำมาก เช่นเดียวกับที่ระบุว่ามลพิษนี้ลอยข้ามแดนมาจากประเทศเพื่อนบ้าน เรามีสถานีตรวจวัดที่ จ.สระแก้วก็พบว่าค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ต่ำมากเช่นกัน ส่วนที่เป็นปัญหาจะเป็น PM 10 จากโรงงานอุตสาหกรรมมากกว่า นอกจากนั้นตัวชี้วัดของภาคประชาชนจะเน้นดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ณ ขณะตรวจวัดหรือเป็นรายชั่วโมง ทำให้พบค่าที่สูงมาก แต่ของ คพ. ยึดค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงเป็นหลักซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก

นายประลอง กล่าวอีกว่า ในส่วนพื้นที่ กทม. ค่า PM 2.5 ที่เกินมาตรฐานนั้น จากผลการวิจัยของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) พบว่า ร้อยละ 50-60 เกิดจากควันดำ รถยนต์ดีเซลที่การเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ร้อยละ 35 เกิดจาการเผาในภาคเกษตร และร้อยละ 5 เกิดจากภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ในพื้นที่ กทม.มีรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลจำนวน 2.5 ล้านคน และรถยนต์ทั่วไปจำนวน 9.8 ล้านคัน ซึ่งมาตรการในการดำเนินการนั้น หากเจอรถควันดำจะจับปรับทันที ส่วนจะมีการจำกัดรถยนต์ที่เข้ามาในพื้นที่ กทม.ชั้นในหรือไม่ เป็นเรื่องของกรมการขนส่งทางบก และบก.จร.จะพิจารณาร่วมกัน โดยต้องคำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชนเป็นหลัก โดยในวันนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการประชุมกันที่ศาลาว่าการ กทม.ต่อไป