จิตแพทย์แนะเสพข่าวช่วย 13 ชีวิตไม่เกิน 1 ชม.ต่อวัน

2018-06-28 13:45:30

 จิตแพทย์แนะเสพข่าวช่วย 13 ชีวิตไม่เกิน 1 ชม.ต่อวัน

Advertisement

จิตแพทย์เตือนไม่ควรติดตามข่าวการช่วยเหลือ 13 ชีวิตเกิน 1 ชม.ต่อวัน แนะหากิจกรรมอย่างอื่นทำสลับกันไป ชี้การใจจดใจจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งจะทำให้เกิดความกระวนกระวายใจ หงุดหงิด ส่งผลกระทบต่อร่างกาย การทำงาน

จากกรณีนักฟุตบอลเยาวชนพร้อมโค้ชทีม “หมูป่าอะคาเดมีแม่สาย” รวม 13 คน ติดอยู่ภายในถ้ำหลวง เขตวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ตั้งแต่เย็นวันที่ 23 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยทุกภาคส่วนต่างระดมค้นหากันอย่างเต็มที่ตลอด 24 ชั่วโมง

เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. นพ.ธรณินทร์ กองสุข ผอ.สวนปรุง จ.เชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์ “นิว18” ถึงกรณีคนที่ติดตามข่าวสารอย่างต่อเนื่องอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจ ว่า การใจจดใจจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น การรอฟังผลการสอบ รอฟังผลการตัดสิน จะทำให้เกิดความกระวนกระวายใจ หงุดหงิด จากนั้นจะส่งผลกระทบต่อร่างกาย เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดท้ายทอย ปวดศีรษะ บางคนอาจแน่นท้อง จุดเสียด ปัสสาวะบ่อย เครียดมากขึ้น ท้องผูก ส่งผลกระทบต่อการนอน นอนไม่หลับ หลับยาก พักผ่อนไม่เพียงพอ สมาธิไม่ดี ความสนใจในเรื่องใด ๆ จะลดลง ทำให้เสียงานเสียการ ไม่มีสมาธิในการทำงาน ถ้าหนักกว่านั้น คือ ทำงานผิดพลาด





นพ.ธรณินทร์ กล่าวต่อว่า ข้อแนะนำสำหรับคนติดตามข่าวสาร คือ ต้องอยู่ในความพอดี ติดตามข่าวสารไม่เกิน 1 ชม.ต่อวัน จากนั้นควรไปทำอย่างอื่น ถ้าติดตามข่าวสาร 2-3 ชั่วโมงต่อวัน หรือมากกว่านั้นถือว่ามากเกินควร จะต้องทำกิจกรรมอย่างอื่น เบี่ยงเบนความสนใจไปทำอย่างอื่น เช่น ออกกำลังกาย ดูข่าวอื่น ดูอะไรที่ผ่อนคลาย ออกไปช็อปปิ้ง ไม่โฟกัสเรื่องนี้มากเกินไป ขณะเดียวกันควรเลือกดูข่าวสารในสื่อที่เป็นของทางราชการที่น่าถือ เพราะอาจมีข่าวลือ ข่าวไม่เป็นวิทยาศาสตร์ เช่น ข่าวร่างทรงจะยิ่งทำให้วิตกกวัล หากข่าวดังกล่าวออกมาในทางไม่ดี



นพ.ธรณินทร์ กล่าวด้วยว่า จากการสังเกตของทีมสุขภาพจิต ที่ลงพื้นที่พบว่าทีมช่วยเหลือยังมีพลังกายและใจดี กระตือรือร้น มีความหวัง ไม่ท้อถอย แต่ปัญหาที่พบและน่าเป็นห่วงคือ ทีมสื่อมวลชนจากหลายสำนักที่เข้าไปสัมภาษณ์ซักถามญาติของผู้พลัดหลงอยู่ตลอด หากเป็นไปได้ขอให้เลี่ยงการสัมภาษณ์ ญาติที่เป็นผู้หญิง วัยรุ่นและเด็ก ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีจิตใจเปราะบาง เกิดความเครียดได้ง่าย โดยหากมีความจำเป็นก็ขอให้ใช้ท่าทีที่นุ่มนวล หลีกเลี่ยงการใช้คำถามที่ก่อความกลัว ความวิตกกังวล เนื่องจากอาจไปกระตุ้นทำให้ญาติ เกิดภาวะที่เรียกว่า ไฮเปอร์ เวนติเลชั่นซินโดรม คือภาวะหายใจเร็วผิดปกติ จากความเครียด เกิดอาการมืดหน้า เป็นลมได้ ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นเป็นปฏิกริยาของร่างกายต่อความเครียดที่ฉับพลันรุนแรง อาการดังกล่าวต้องได้รีบการดูแลรักษาโดยเร็ว แม้ว่าจะไม่มีอันตรายถึงชีวิตก็ตาม สิ่งที่กระตุ้นให้เกิดไฮเปอร์เวนติเลชั่นซินโดรม ได้แก่ ความทุกข์ทรมานใจ ภาวะเครียด ดื่มกาแฟมากเกินไป หรืออยู่ในที่ที่มีผู้ คนจำนวนมากแออัด