เปิดวีรกรรม “พระเพทราชา” ไขปริศนาเบื้องลึกแห่งการยึดอำนาจ!

2018-04-11 17:50:39

เปิดวีรกรรม “พระเพทราชา” ไขปริศนาเบื้องลึกแห่งการยึดอำนาจ!

Advertisement

เดินทางมาถึงตอนสุดท้ายแล้วสำหรับละครยอดฮิต “บุพเพสันนิวาส” โดยทุกฉากทุกวินาทีแห่งการดำเนินเรื่องในตอนสุดท้ายนี้ล้วนเข้มข้นในทุกบทบาทของตัวละคร โดยเฉพาะเรื่องราวเหตุการณ์สำคัญที่ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ การยึดอำนาจของสมเด็จพระเพทราชา จนนำไปสู่การสั่งประหารชีวิตคอนสแตนติน ฟอลคอน และการสิ้นสุดความสัมพันธ์ระหว่างกรุงศรีอยุธยากับฝรั่งเศส ซึ่งรับบทโดย “บิ๊ก ศรุต”

ย้อนกลับไปศึกษาพระราชประวัติของสมเด็จพระเพทราชา แต่เดิมเป็นสามัญชนชื่อว่า “ทองคำ” เป็นชาวบ้านพลูหลวง แขวงเมืองสุพรรณบุรี (ปัจจุบันคือ บ้านพลูหลวงตั้งอยู่ใน ต.สนามชัย อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี) ประสูติเมื่อ พ.ศ.2175 ปีเดียวกับสมเด็จพระนารายณ์ และทรงเป็นพระสหายกับสมเด็จพระนารายณ์มาตั้งแต่เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ เนื่องจากพระมารดาของพระองค์เป็นพระนมโทในสมเด็จพระนารายณ์ (พระนมเอก คือ เจ้าแม่วัดดุสิต มารดาของโกษาเหล็ก และโกษาปาน)

ในตอนต้นรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ สมเด็จพระเพทราชามีตำแหน่งเป็นจางวางกรมช้างมีความชำนาญในศิลปศาสตร์การบังคับช้างและมีฝีมือในการสงคราม เคยได้รับความชอบจากสมเด็จพระนารายณ์หลายครั้ง มีครั้งหนึ่งสมเด็จพระนารายณ์ทรงยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ สมเด็จพระเพทราชาหรือจางวางกรมช้างในขณะนั้นได้ตามเสด็จไปทำศึกด้วย




ในช่วงปลายรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้มีฝรั่งต่างชาติเข้ามาติดต่อค้าขายและเข้ามาอาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยาจำนวนมาก หนึ่งในชาวต่างชาติที่คนไทยรู้จักดีก็คือ ชาวกรีกผู้ภักดีต่อฝรั่งเศสที่ชื่อ เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ (ฟอลคอน หรือ เยการี) สามีของ ท้าวทองกีบม้า (มารี กีมาร์ เดอ ปีนา) ลูกผสมญี่ปุ่น-โปรตุเกส ต้นตำรับขนมหวาน ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง และขนมหม้อแกงของไทย สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงโปรดเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ เนื่องจากเป็นผู้ที่มีความสามารถและได้ทำประโยชน์ให้แก่ราชการเป็นอันมาก

แต่ด้วยการกระทำหลายๆ อย่างของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ได้สร้างความไม่พอใจให้กับเสนาบดีกลาโหม (สมเด็จพระเพทราชาได้รับตำแหน่งนี้ต่อจากโกษาเหล็ก) และหลวงสรศักดิ์เป็นอันมาก เนื่องจากเจ้าพระยาวิชาเยนทร์พยายามจะโน้มน้าวสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ให้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ อีกทั้งคริสเตียนชาวกรีกผู้นี้ได้กระทำการหมิ่นน้ำใจชาวพุทธหลายครั้ง เช่น จัดการสึกภิกษุสามเณรให้ลาสิกขาออกมารับราชการโดยไม่สมัครใจ เป็นต้น สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ก็ทรงโอนอ่อนตามเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ในหลายเรื่อง ทำให้พุทธศาสนิกชนอย่างเสนาบดีกลาโหมและหลวงสรศักดิ์รู้สึกโกรธเคืองในตัวชาวกรีกผู้นี้ยิ่งนัก



อีกทั้งมีความระแวงว่าเจ้าพระยาวิชาเยนทร์จะนำทหารฝรั่งเศสเข้ายึดกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากในเวลานั้นสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงพระประชวรอย่างหนัก เสนาบดีกลาโหมและหลวงสรศักดิ์จึงก่อการยึดอำนาจจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและได้ประหารเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ รวมทั้งผู้อยู่ในข่ายที่จะได้สืบราชสมบัติต่อจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็คือ เจ้าฟ้าอภัยทศและเจ้าฟ้าน้อย (พระอนุชาของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช) และพระปีย์ (พระโอรสบุญธรรม) เสียก่อน เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงทราบอาการประชวรก็ทรงทรุดหนักมากยิ่งขึ้นและสวรรคตในเวลาต่อมา

เมื่อจัดการบ้านเมืองสงบแล้วจึงเชิญพระบรมศพสมเด็จพระนารายณ์มาประดิษฐานที่พระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ แล้วรับราชาภิเษก ณ พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท ขณะปราบดาภิเษกนั้นสมเด็จพระเพทราชามีพระชนมายุได้ 56 พรรษา ทรงพระนามว่า “สมเด็จพระมหาบุรุษ วิสุทธิเดชอุดม บรมจักรพรรดิศร บรมนาถบพิตร สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว” แล้วทรงตั้งคุณหญิงกันเป็นพระอัครมเหสีฝ่ายขวา ตั้งเจ้าฟ้าทองพระราชธิดาในสมเด็จพระนารายณ์เป็นพระมเหสีฝ่ายซ้าย ตั้งนางนิ่มเป็นพระสนมเอก ตั้งหลวงสรศักดิ์เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ตั้งหม่อมแก้วบุตรท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (แจ่ม) พระขนิษฐาของพระองค์เป็นกรมขุนเสนาบริรักษ์ เป็นต้น

ครั้นพระองค์ขึ้นครองราชย์แล้ว ก็ได้ขับไล่กำลังทหารฝรั่งเศสออกไปจากกรุงศรีอยุธยา แต่ยังทรงอนุญาตให้บาทหลวง และพ่อค้าชาวฝรั่งเศสอาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยาต่อไปได้ ได้มีการทำสนธิสัญญากับฝรั่งเศส เรื่องการขนย้ายทหาร และทรัพย์สินของฝรั่งเศสออกจากป้อมที่บางกอก โดยฝ่ายอาณาจักรอยุธยาเป็นผู้จัดเรือ กับต้องส่งคืนทรัพย์สิน ที่เป็นของกรุงศรีอยุธยาคืนทั้งหมด สำหรับข้าราชการและราษฎรไทย ที่ยังอยู่ในประเทศฝรั่งเศส ทางฝรั่งเศสจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับกรุงศรีอยุธยา ผลการปฏิบัติดังกล่าวทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงศรีอยุธยากับฝรั่งเศส สิ้นสุดลงตั้งแต่นั้นมา