เล่าเรื่อง “ช้างไทย” ตำนานผูกพันคู่แผ่นดิน

2018-03-13 17:45:02

เล่าเรื่อง “ช้างไทย” ตำนานผูกพันคู่แผ่นดิน

Advertisement

วันที่ 13 มี.ค.ของทุกปี นับเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย ด้วยถูกกำหนดให้เป็น “วันช้างไทย” วันที่เราชาวไทยทุกคนจะได้รำลึกถึงความสำคัญของช้าง สัตว์คู่บ้านคู่เมืองที่มีตำนานความผูกพันคู่ผืนแผ่นดินไทยมานับแต่อดีตกาล

เป็นเวลาเนิ่นนานหลายศตวรรษ ที่ “ช้าง” ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อสังคมไทย จนอาจกล่าวได้ว่า ชีวิตผู้คนในอดีตผูกพันอยู่กับช้างเกือบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น ด้านศาสนา พระมหากษัตริย์ เศรษฐกิจ สังคม หรือแม้แต่การศึกสงคราม


“ช้าง” นับเป็นสัตว์คู่บารมีของพระมหากษัตริย์ไทย ที่ดำรงอยู่คู่กับประเทศไทยมาเป็นเวลาช้านาน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สยามประเทศเคยใช้ธงชาติเป็น “รูปช้างเผือก” โดยชาวไทยเชื่อกันว่า ช้างเผือกเป็นสัตว์คู่บารมีของพระมหากษัตริย์ ช้างเผือกจึงได้รับการยกย่องเสมือนเจ้านายชั้นเจ้าฟ้า



ไม่เพียงเท่านั้น ในประวัติศาสตร์ชาติไทยยังได้จารึกไว้ว่า ช้างได้เข้ามามีส่วนในการปกป้องเอกราชและความเป็นชาติให้แก่ชาวไทยหลายยุคหลายสมัย ในสมัยกรุงธนบุรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงรวบรวมชายไทยให้เป็นปึกแผ่นและมั่นคงบนหลังช้างทรงพระที่นั่ง และในสมัยพระบาทสมเด็จพระนเรศวรมหาราชก็ได้ทรงประกาศเอกราชและความเป็นชาติของคนไทยบนหลังช้างทรงพระที่นั่งด้วยเช่นกัน ซึ่งช้างทรงในสมเด็จพระนเรศวรนับว่าเป็นช้างไทยที่ได้รับเกียรติอันสูงสุด โดยจากความกล้าหาญในสมรภูมิรบ ทำให้ช้างไทยเชือกนี้ได้รับพระราชทานยศให้เป็นถึง "เจ้าพระยาปราบหงสาวดี"

ครั้นในยุคสมัยที่การคมนาคมยังไม่เจริญเทียบเท่ากับในปัจจุบัน มนุษย์ยังไม่ได้มีการพัฒนาเครื่องจักรต่างๆ สำหรับนำมาใช้เป็นเครื่องทุ่นแรงเพื่อการขนส่งของ ช้างคือพาหนะที่ดีและมีประสิทธิภาพที่สุดสำหรับมนุษย์ เนื่องจากช้างเป็นสัตว์ใหญ่ที่มีความเฉลียวฉลาดและมีพละกำลังมหาศาล ช้างจึงสามารถขนส่งสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ในปริมาณมากได้อย่างเข้มแข็งและอดทน



ด้านการสร้างสรรค์วัฒนธรรมที่ดีงามของชาติไทย เมื่อแรกเริ่มการตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ ช้างคือ พาหนะสำคัญที่อัญเชิญพระพุทธมณีรัตนปฏิมากรแก้วมรกตมาสถิตย์ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม นอกจากนี้ในงานพระราชพิธีต่างๆ อาทิ พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา งานพระราชพิธีฉัตรมงคล หรือในงานพระราชทานงานเลี้ยงเพื่อเป็นเกียรติแก่พระราชอาคันตุกะหรือประมุขของต่างประเทศที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ก็จะนำช้างเผือกแต่งเครื่องคชาภรณ์ไปยืนที่แท่นเกยช้างด้านตะวันตกของพระที่นั่งดุสิตาภิรมย์ในพระบรมมหาราชวังเพื่อประกอบพระเกียรติยศ เป็นต้น