“บุพเพสันนิวาส” สะท้อนชีวิตริมน้ำชาวกรุงศรี สมฉายา “เวนิสตะวันออก”

2018-03-13 17:05:50

“บุพเพสันนิวาส” สะท้อนชีวิตริมน้ำชาวกรุงศรี สมฉายา “เวนิสตะวันออก”

Advertisement

เรื่องราวชีวิตของ “เกศสุรางค์ ” สาวยุคปัจจุบันที่อยู่ๆ ก็ไปโผลกลางกรุงศรีอยุธยา ในนามว่า “แม่การะเกด” แต่ทว่าเป็นโลกอดีต ในละคร “บุพเพสันนิวาส” ทำให้พวกเราได้ย้อนเวลากลับไปชมวิถีชีวิตของผู้คนยุคนั้นอย่างแจ่มแจ้ง โดยทุกฉากทุกตอน ล้วนกล่าวถึง “วิถีชีวิตริมน้ำ” ของชาวอยุธยา มาดูกันว่า ในอดีตนั้น “แม่น้ำ” มีความสำคัญอย่างไรกันบ้าง 


กรุงศรีอยุธยา ขึ้นชื่อว่าเป็น “เวนิสแห่งตะวันออก”

417 ปีแห่งการเป็นราชธานีเก่าแก่ของสยามประเทศ ประกอบด้วย 5 ราชวงศ์ คือ ราชวงศ์อู่ทอง ราชวงศ์สุพรรณภูมิ ราชวงศ์สุโขทัย ราชวงศ์ปราสาททองและราชวงศ์บ้านพลูหลวง มีกษัตริย์ปกครอง ทั้งสิ้น 33 พระองค์ โดยมี ปฐมกษัตริย์ คือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) พระนครศรีอยุธยาจึงนับเป็นราชธานีที่มีอายุยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาติไทย ตลอดจนเป็นการสร้างสรรค์อารยธรรมของหมู่มวลมนุษยชาติ

กรุงศรีอยุธยาเป็นเกาะซึ่งมีแม่น้ำ 3 สายล้อมรอบ ได้แก่ แม่น้ำป่าสักทางทิศตะวันออก, แม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศตะวันตกและทิศใต้ และแม่น้ำลพบุรีทางทิศเหนือ เดิมทีบริเวณนี้ไม่ได้มีสภาพเป็นเกาะ แต่สมเด็จพระเจ้าอู่ทองทรงดำริให้ขุดคูเชื่อมแม่น้ำทั้ง 3 สาย เพื่อให้เป็นปราการธรรมชาติป้องกันข้าศึก ที่ตั้งกรุงศรีอยุธยายังอยู่ห่างจากอ่าวไทยไม่มากนัก ทำให้กรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางการค้ากับชาวต่างประเทศ และอาจถือว่าเป็น "เมืองท่าตอนใน" เนื่องจากเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภูมิภาค มีสินค้ากว่า 40 ชนิด ที่ถูกทำการซื้อขายแลกเปลี่ยน แม้ว่าตัวเมืองจะไม่ติดทะเลก็ตาม ซึ่งเห็นได้จากฉากต่างๆ ในละครบุพเพสันนิวาส มีการถ่ายทำ “ตลาด” หรือ “ป่า” ซึ่งเป็นศูนย์กลางการสื่อขายสินค้าต่างๆ ระหว่างชาวไทยและชาวต่างประเทศ อาทิ ฮอลันดา โปรตุเกส และจีน เป็นต้น

แผนผังกรุงศรีอยุธยาจากแผนที่โบราณ





ชีวิตอยู่กับสายน้ำ “เรือ” คือยานพาหนะนำพาไปทุกที่

เมื่อแม่น้ำเป็นเส้นทางการคมนาคมหลัก เรือจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้า การเดินทาง ของเจ้าขุนมูลนาย ไพร่ฟ้าประชาชน ก็ล้วนแต่ใช้เรือกันทั้งหมดทั้งสิ้น




ในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้มีการติดต่อค้าขายกับชาวต่างประเทศรุ่งเรืองมาก ทำให้มีเรือเดินทะเลขนาดใหญ่ เช่น เรือสำเภาและเรือกำปั่น มาจอดที่ปากอ่าว มีอู่ต่อเรือหลวงเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ประชาชนต่างอาศัยเรือเล็กเรือน้อยสัญจรไปมาหนาตา ถึงขนาดที่บาทหลวงชาวฝรั่งเศสบันทึกเอาไว้ว่า “ในแม่น้ำลำคลองเต็มไปด้วยเรือ จะไปไหนมาไหนก็เจอแต่เรือแน่นขนัดไปหมด จนไม่สามารถแหวกทางผ่านกันได้หากไม่ชำนาญ ทั้งที่เรือแน่นขนัดจอแจเช่นนี้ก็ไม่ปรากฏว่าเกิดอุบัติเหตุแต่อย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องอัศจรรย์อย่างยิ่ง” และจากบันทึกของชาวเปอร์เซีย เรียกกรุงศรีอยุธยาว่า ชะห์รินาว ซึ่งแปลว่า เมืองเรือ หรือ นาวานคร

พี่หมื่นเดินทางไปทำงานตอนเช้า ก็นั่งเรือ





ศิลปวัฒนธรรมที่เกิดจาก “ชีวิตริมน้ำ”
ปัจจุบันยังคงเห็นวัฒนธรรมไทยที่เกี่ยวข้องกับทางน้ำอยู่บ้าง เช่น “การตักบาตรทางเรือ” แต่ก็ใกล้เลือนหายไปทุกที นอกจากนี้ยังมีประเพณีอื่นๆ อีก เช่น การเล่นเพลงเรือ การแห่กฐินทางน้ำ ประเพณีการแข่งเรือ หรือการทอดผ้าป่าทางเรือ ก็ยังมีให้เห็นอยู่ในบางจังหวัด ตลอดจนการซื้อขายสินค้าของ “ตลาดน้ำ” ที่ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยว


ต่างชาติชื่นชอบมาก


วิถีชีวิตและภูมิปัญญาของคนไทยแต่กาลก่อนมีสิ่งดีสิ่งงามสืบทอดมาอย่างยาวนาน อย่างเช่น ยุคกรุงศรีอยุธยา ถ่ายทอดต่อมาจนกรุงรัตนโกสินทร์ จวบถึงยุคปัจจุบันนั้น ล้วนแล้วแต่แฝงขนบธรรรมเนียมวัฒนธรรมมากมายที่พวกเราชาวไทยรุ่นหลังควรสงวนหวงแหนให้คงไว้ เพื่อความคงอยู่และสืบสานความงามเหล่านั้นต่อไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลานตราบนานเท่านาน



มาชมความสวยงามของชีวิตริมน้ำ ที่ละคร "บุพเพสันนิวาส" ได้จำลองตามคำบอกเล่าของพงศาวดาร และเกร็ดประวัติศาสตร์ต่างๆ ให้คนยุคปัจจุบันได้ชมกัน 


ความยิ่งใหญ่ตระการตาของกรุงศรีอยุธยา 

 

 ตื่นเช้ามาตักบาตรกันจ้ะออเจ้า


ราตรีสวัสดิ์ค่ะออเจ้า