ชงเพิ่มอำนาจตำรวจตรวจดีเอ็นเอ

2018-02-17 22:05:25

ชงเพิ่มอำนาจตำรวจตรวจดีเอ็นเอ

Advertisement

คณะกรรมการปฎิรูปตำรวจเสนอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้ตำรวจมีอำนาจบังคับตรวจดีเอ็นเอจากผู้ต้องหา ผู้เสียหายในคดีอาญาทุกประเภท พร้อมเปิดเวทีรับฟัง 20 ก.พ.นี้

เมื่อวันที่ 17 ก.พ.นายมานิจ สุขสมจิตร ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสารกับสังคมในคณะกรรมการปฏิรูปด้านกระบวนการยุติธรรม(ตำรวจ) ที่มี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธาน กล่าวว่าคณะกรรมการได้รับข้อเสนอจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)ขอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบมีอำนาจให้แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอจากผู้ต้องหา ผู้เสียหายหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องเท่าที่จำเป็นได้ทุกคดี โดยไม่จำกัดอัตราโทษและไม่ต้องได้รับความยินยอมจากบุคคลดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายโดยให้ใช้ประโยชน์จากพยานหลักฐานในการสืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด ปัจจุบันได้กำหนดให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจตรวจเก็บดีเอ็นเอได้เฉพาะจากผู้ต้องหาที่กระทำความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกสูงเกิน3 ปีและโดยต้องได้รับความยินยอมเท่านั้น ซึ่งเป็นข้อจำกัดทำให้พนักงานสอบสวนไม่สามารถรวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิดเพื่อนำมาพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
           
นายมานิจ กล่าวอีกว่า สำหรับข้อความที่จะขอให้แก้ไขเพิ่มเติมลงในมาตรา 131/1 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คือในกรณีการตรวจพิสูจน์ตามวรรคหนึ่ง จำเป็นต้องเก็บตัวอย่างเลือด เนื้อเยื่อ ผิวหนัง เส้นผมหรือขน น้ำลาย ปัสสาวะ อุจจาระ สารคัดหลั่ง สารพันธุกรรม หรือส่วนประกอบของร่างกาย จากผู้ต้องหา ผู้เสียหาย หรือส่วนประกอบของร่างกายจากผู้ต้องหา ผู้เสียหาย หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบมีอำนาจให้แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญดำเนินการตรวจดังกล่าวได้ ทั้งนี้ในการเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรมให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจตรวจเก็บจากเยื่อบุกระพุ้งแก้มของผู้ต้องหา ผู้เสียหาย หรือผู้เกี่ยวข้องได้ด้วย การเก็บตัวอย่างดังกล่าวต้องกระทำเพียงเท่าที่จำเป็นและสมควรโดยใช้วิธีการที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดน้อยที่สุด เท่าที่จะกระทำได้ ทั้งจะต้องไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายหรืออนามัยของบุคคลนั้น
             
นายมานิจ กล่าวด้วยว่า คณะอนุกรรมการด้านรับฟังความคิดเห็น ที่มีพล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ เป็นประธานจะได้นำเอาร่างกฎหมายที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวไปถามความคิดเห็น ของประชาชนและผู้เกี่ยวข้อง โดยการทำประชาพิจารณ์จะมีขึ้นในวันที่ 20 ก.พ.นี้