ส่อทุจริตอีก! พันธุ์ปลา 9101 อ.กุฉินารายณ์ผิดสเปก

2018-01-22 15:10:36

ส่อทุจริตอีก! พันธุ์ปลา 9101 อ.กุฉินารายณ์ผิดสเปก

Advertisement

ส่อแววไม่ตรงไปตรงมาอีกแล้ว สำหรับพันธุ์ปลา 9101 อ.กุฉินารายณ์ผิดสเปก เล็งสอบ จนท.เอี่ยวรับเหมา


คณะกรรมตรวจสอบทุจริตโครงการ 9101 ฟื้นฟูผู้ประสบภัยน้ำท่วมตรวจพบการจัดส่งพันธุ์ปลา-หัวอาหารในพื้นที่อ.กุฉินารายณ์ผิดสเปก รวมเกษตรกรทำเป็นกลุ่มใหญ่ ขาดการประชาคมชาวบ้านมีส่วนร่วมส่อทุจริต เล็งสอบเจ้าหน้าที่รัฐเอี่ยวนำผู้รับเหมาเข้ามาจัดส่งปัจจัยการผลิตรายเดียวทั้งอำเภอกว่า 23 ล้านบาท

จากกรณีชาวบ้านพบความผิดปกติการซื้อปัจจัยการผลิตโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลดในหลายพื้นที่ของ จ.กาฬสินธุ์ราคาสูงกว่าท้องตลาด โดยเฉพาะ ต.บัวบาน อ.ยางตลาด และ อ.นาคู อ.กุฉินารายณ์ อ.ห้วยผึ้ง เขาวง และ อ.สมเด็จ เนื่องจากมีการจัดซื้อปัจจัยการผลิตราคาแพงกว่าท้องตลาด จนชาวบ้านต้องนำเรื่องดังกล่าวเข้าร้องทุกข์กับพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านศูนย์ดำรงธรรมเรียกร้องให้ตรวจสอบ



ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 ม.ค. พ.อ.มานพ ไขขุนทด รอง ผอ.รมน. กาฬสินธุ์ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบทุจริตโครงการ 9101 ฟื้นฟูผู้ประสบภัยน้ำท่วม จ.กาฬสินธุ์ พร้อมเจ้าหน้าที่ กอ.รมน.กาฬสินธุ์ลงพื้นที่ตรวจสอบพันธุ์ปลาดุกของชาวบ้านมะนาว ต.เหล่าใหญ่ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์หลัง ชาวบ้านประสบความเดือดร้อนจากปัญหาที่ได้รับพันธุ์ปลาดุกในโครงการ 9101 ฟื้นฟูผู้ประสบภัยน้ำท่วมตายจำนวนมาก เนื่องจากพันธุ์ปลาดุกที่นำมาแจกจ่ายมีขนาดเล็กและหัวอาหารผิดประเภท โดยจากการตรวจสอบยังพบว่าลูกพันธุ์ปลาดุกที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ในกระชังยังคงทยอยตายอย่างต่อเนื่อง เพราะพันธุ์ปลานั้นมีขนาดเล็ก บางรายปลาตายแบบยกกระชังและปล่อยทิ้งร้าง ซึ่งเจ้าหน้าที่จะได้เร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปช่วยเหลือต่อไป 


จากนั้น พ.อ.มานพ พร้อมคณะได้ลงพื้นที่ตรวจสอบการแจกจ่ายพันธุ์ปลานิลและปลาตะเพียนรวมทั้งหัวอาหารของชาวบ้านผู้ ประสบภัยน้ำท่วมบ้านบุ่งคล้า ต.บัวขาว อ.กุฉินารายณ์ หลังจากชาวบ้านได้เข้าร้องเรียนกับศูนย์ดำรงธรรม อ.กุฉินารายณ์ว่าได้รับพันธุ์ปลาผิดประเภท ผิดสเปก เนื่องจากมีการขอพันธุ์ปลาหมอเทศกับปลานิล แต่กลับได้รับพันธุ์ปลานิลกับปลาตะเพียนแทน ซึ่งมีขนาดเล็กและหัวอาหาร ผิดประเภทไม่คุ้มค่ากับเงินที่ได้รับการช่วยเหลือรายละ 5,000 บาท อีกทั้งทางเจ้าหน้าที่ ของหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการก็ไม่ได้ให้กลุ่มเกษตรผู้เลี้ยงปลาบ้านบุ่งคล้าจัดซื้อปัจจัยการผลิตด้วยตนเอง แต่กลับนำไปรวมหมู่บ้านอื่นๆแล้วจัดตั้งคณะกรรรมการ ขึ้นมาบริหารจัดการแล้วนำพันธุ์ปลาที่ผิดประเภทผิดขนาดมาให้โดยไม่มีการจัดทำเวทีประชาคมกับชาวบ้าน



พ.อ.มานพ ไขขุนทด รอง ผอ.รมน. กาฬสินธุ์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบพันธุ์ลูกปลาดุกที่บ้านมะนาว ต.เหล่าใหญ่นั้น พบว่าเป็นปลาที่ผสมกัน โดยชาวบ้านเลี้ยงมานานกว่า 1 เดือนแล้ว แต่ส่วนใหญ่ก็ยังมีขนาดเล็กประมาณ 3-4 ซม.และบางส่วนขนาด 5-6 ซม.ซึ่งเป็นการจัดส่งผิดกับสเปคที่มีการกำหนดไว้ ตั้งแต่เริ่มต้นขนาด 5-7 เซนติเมตร ในราคาตัวละ 2 บาท ซึ่งแต่ละรายเฉลี่ยได้รับแจกจ่ายรายละประมาณ 800 ตัวส่วนหัวอาหารชาวบ้านได้รับคนละ 2 กระสอบ จัดซื้อกระสอบละ 600 บาทแต่เป็นหัวอาหารปลาเม็ดใหญ่ โปรตีน25% สำหรับปลาโตซึ่งเป็นหัวอาหารผิดประเภทนอกจากนี้ยังได้รับ กระชังอีกคนละสองชุดในราคาชุดละ 1000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่แพงเกินจริง

ด้าน น.ส.ธนัชพร บรรเทา อายุ 39 ปี ชาวบ้านบุ่งคล้า ต.บัวขาว อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า เริ่มต้นโครงการชาวบ้านบุ่งคล้า ได้เสนอขอพันธุ์ปลาหมอเทศและพันธ์ปลานิลมาเลี้ยงในบ่อดิน จากนั้นเจ้าหน้าที่เกษตรได้ให้กลุ่มผู้เลี้ยงปลาบ้านบุ่งคล้าตั้งคณะกรรมการ โดยจะต้องมีประธาน มีคณะกรรมการ มีเลขา มีเหรัญญิก อย่างน้อย 10 คนไว้รอ ซึ่งพอตั้งเสร็จก็เงียบหายไป กระทั่งอยู่ๆ ก็นำพันธุ์ปลานิล กลับปลาตะเพียนมาให้พร้อมอาหารซึ่งผิดประเภทและสเปก โดยขณะนั้นชาวบ้านไม่ยอมรับเหมือนกับถูกบีบบังคับจนต้องทำใจรับ จึงได้รวมตัวกันเข้าร้องเรียนกับศูนย์ดำรงธรรม อ.กุฉินารายณ์ เพราะเห็นว่านอกจากปัจจัยการผลิตที่นำมาให้เกษตรกรไม่เหมาะสมกับราคาเงิน 5,000 บาทแล้ว ยังมีความผิดปกติตรงที่มีการรวมเอาชาวบ้านจากหมู่บ้านต่างๆไปไว้ในกลุ่มเดียวกันจำนวนมากกว่า 226 คน ซึ่งทำเป็นกลุ่มใหญ่โดยมีคณะกรรมการ กลุ่มและมีคณะกรรมการชุมชนบริหารจัดการไม่ปล่อยให้ชาวบ้านที่ประสบภัยรวมกลุ่มกันทำเองจึงถือเป็นเรื่องที่ผิดปกติ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายตำบลที่เป็นเหมือนกัน เพราะมีการรวมกลุ่มหมู่บ้านไว้หลายร้อยคนเป็นกลุ่มเดียว ซึ่งชาวบ้านอยากเรียกร้องให้หน่วยงานด้านการตรวจสอบ ปปท.เขต 4 ขอนแก่น และ สตง.เข้ามาตรวจสอบร่วมกับคณะกรรมการของจังหวัดเพราะทราบว่างบประมาณในพื้นที่ อ.กุฉินารายณ์มีจำนวนมากถึง 23 ล้านบาท