เตือน ตร.ถ่ายคู่ “เสก โลโซ”ไม่เหมาะ แนะออกแนวปฏิบัติห้ามเด็ดขาด

2018-01-05 11:05:18

เตือน ตร.ถ่ายคู่ “เสก โลโซ”ไม่เหมาะ แนะออกแนวปฏิบัติห้ามเด็ดขาด

Advertisement

กรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมระบุตำรวจถ่ายรูปคู่ “เสก โลโซ “ ไม่ผิด แต่ไม่เหมาะสม เตือนระวังทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ ด้านนักวิชาการด้านสื่อ แนะสำนักงานตำรวจแห่งชาติออกแนวปฏิบัติหรือคำสั่งภายในเรื่องการถ่ายภาพ การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ต้องหาระหว่างดำเนินคดี ป้องกันเกิดปัญหาขึ้นอีก  


จากกรณีเฟซบุ๊ก “เสก โลโซ Sek Loso เสกสรรค์ ศุขพิมาย Fc”ได้โพสต์ภาพ นายเสกสรร ศุขพิมาย หรือ “เสก โลโซ” กับ ผกก.สน.คันนายาว นอกจากนี้ยังมีภาพนายตำรวจใน จ.นครศรีธรรมราช กำลังนั่งกินข้าวและสังสรรค์กับร็อกเกอร์หนุ่มอย่างสนิทสนม ทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมานั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายเสรี สุวรรณภานนท์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ให้สัมภาษณ์ “นิว18”ว่า ไม่เห็นรูปที่ตำรวจถ่ายคู่กับเสก โลโซ แต่กรณีนี้ต้องไปดูว่ามีความสัมพันธ์ คุ้นเคยกันระดับไหน และเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ดูให้เป็นกลาง ถ้าเป็นเรื่องปฏิบัติหน้าที่แล้วถ่ายเก็บเล่น ๆก็ถือว่าวางตัวไม่เหมาะสม มันไม่ควร แต่ก็ไม่ผิด 

“การถ่ายเก็บไว้เป็นที่ระลึก เพราะเขาเป็นดารา เจ้าหน้าที่ต้องระมัดระวัง ไปถ่ายเล่น ๆพอภาพไปสู่สาธารณชนทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจขาดความน่าเชื่อถือได้”นายเสรี กล่าว


ด้าน ดร.ธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการด้านสื่อ กล่าวกับ “นิว 18”ว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีระเบียบเรื่องการให้ข่าวต่อสื่อมวลชนแล้ว แต่ไม่เคยมีระเบียบเรื่องการถ่ายภาพ หรือ มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ต้องหา  คือ ตั้งแต่คดีเปรี้ยวฆ่าหั่นศพ พอมาถึงเสก โลโซ สะท้อนว่า 1.ตำรวจขาดความเข้าใจในการใช้สื่อ เพราะรูปถ่ายเป็นสถานที่ส่วนตัว แต่ภาพที่ถ่ายไว้ไม่สามารถเก็บอยู่ได้ และหลุดออกมา ความเป็นส่วนตัวไม่มี 2.การวางระยะห่างระหว่างผู้บังคับใช้กฎหมายกับผู้ต้องหาสะท้อนว่าไม่เหมาะสมอย่างมาก ไม่ว่าเสก โลโซ หรือจะเป็นผู้ต้องหาคนใดก็ตาม ตำรวจจะต้องรักษาระยะห่างกับผู้ต้องหา เป็นการวางบทบาทหน้าที่ตำรวจในฐานะผู้รักษากฎหมาย การจะไปนั่งกินข้าว ดื่มเหล้ากับผู้ต้องหาถือว่าไม่เหมาะสม เหมือนนักข่าวไปกินข้าว ดื่มเหล้ากับแหล่งข่าวก็ไม่เหมาะสม ผู้ต้องหาทุกคนต้องเท่าเทียมเสมอภาคกัน หากไปทำแบบนั้นกับผู้ต้องหารายหนึ่งรายใด ประชาชนจะเสื่อมศรัทธา ว่า เลือกปฏิบัติไม่เท่าเทียม และ 3.สำนักงานตำรวจแห่งชาติควรจะออกแนวปฏิบัติหรือคำสั่งภายในให้เป็นที่รับรู้ ว่า การกินข้าว สังสรรค์ระหว่างตำรวจกับผู้ต้องหา ที่อยู่ระหว่างดำเนินคดีไม่สามารถทำได้เลย หากละเว้นจะต้องมีบทลงโทษ มิฉะนั้นจะเกิดปัญหาขึ้นอีก การบันทึกภาพจะต้องมีแนวทางปฏิบัติ เพราะจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ดังนั้น ฝากสำนักงานตำรวจแห่งชาติออกแนวปฏิบัติวางกฎระเบียบการใช้มือถือ การทึกภาพ การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ต้องหาด้วย



ทางด้าน พ.ต.อ.สิงห์ สิงห์เดช ผกก.สน.คันนายาว ได้เฟซบุ๊กไลฟ์เมื่อวันที่ 4 ม.ค.ที่ผ่านมาชี้แจงกรณีปรากฏภาพถ่ายยกนิ้วบนโซฟาร่วมกับ นายเสกสรร ศุขพิมาย หรือ “เสก โลโซ”ว่า ตามที่ปรากฏภาพถ่ายผม เสก โลโซ ผู้ต้องหา พล.ต.ต.ประสพโชค พร้อมมูล ซึ่งเป็นบุคคลที่พาเสก โลโซ ไปสมัครใจเข้ารับการบำบัดยาเสพติดเมื่อปี 2554 และคุณเกียรติคุณ ทักษิณนุกูลวงศ์ ผู้บริหารของบริษัทแกรมมี่ ซึ่งเสก โลโซเคยทำงานด้วยและให้ความเคารพ สถานที่ถ่ายคือ ห้องฝ่ายสืบสวนของ สน.คันนายาว เมื่อวันที่ 1 ม.ค.2561 เวลาประมาณ 07.00 น. ทั้ง 2 ท่านขอเข้าเยี่ยม ซึ่งเป็นสิทธิ์ตามกฎหมาย ผมให้เข้าเยี่ยมและให้นั่งโซฟา จับประเด็นได้ว่า ทั้ง 2 ท่าน ได้อบรมคุณเสกให้กลับเนื้อกลับตัวเป็นคนดี เนื่องในโอกาสวันปีใหม่สิ่งไม่ดีขอให้เลิกซะ ซึ่งเสก โลโซ ได้รับปากทั้ง 2 ท่าน และมีการเชิญให้ตนร่วมถ่ายรูปเป็นหลักฐานให้สัญญาว่าจะกลับเนื้อกลับตัวเป็นคนดี ส่วนของที่อยู่บนโต๊ะมีถ้วยกาแฟ เครื่องดื่มชูกำลังเป็นเครื่องดื่มที่ตำรวจทำงานทั้งคืนดื่มไม่ใช่ทางฝ่ายคุณเสก หรือผู้เข้าเยี่ยมดื่มและไม่ได้สิทธิพิเศษใด ๆในการควบคุมที่ สน.คันนายาว

พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช ผบช.น. ระบุ ได้สั่งการให้ ผกก.สน.คันนายาว เขียนรายงานชี้เเจงอย่างเร่งด่วน ให้เเล้วเสร็จภายในวันที่ 5 ม.ค. พร้อมให้ชี้เเจงกับสื่อมวลชนเเละสังคมว่าภาพดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร

ขณะที่ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่า ได้รับรายงานจากกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวแล้ว ทราบชื่อผู้ที่ปรากฏในรูปคือ พ.ต.อ.รังสรรค์ สุขเกื้อ ผกก.สส.ภ.จว.นครศรีธรรมราช และ พ.ต.ท.ธีระพล พุ่มชัย สวป.สภ.เมืองนครศรีธรรมราช โดยในเรื่องนี้จะต้องมีการตรวจสอบถึงพฤติกรรมที่ปรากฏว่าเหมาะสมหรือไม่ และให้โอกาสกับผู้ที่เกี่ยวข้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงเพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งนี้ ผบ.ตร. ได้เน้นย้ำเจ้าหน้าที่ตำรวจในเรื่องการประพฤติตนขณะปฏิบัติหน้าที่ ทั้งในและนอกเครื่องแบบที่แสดงออกถึงความเป็นผู้มีระเบียบวินัย รวมไปถึงการแสดงกิริยาอาการขณะอยู่กับผู้ต้องหาที่อาจทำให้ผู้อื่นเข้าใจในทำนองที่มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับผู้ต้องหาในลักษณะที่อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจมาโดยตลอด