×ข่าวรายการผังรายการรายการสด ร่วมงานกับเราติดต่อเรา

108 ปัญหากับหมอรามาฯ : โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 โรคระบาดใกล้ตัวที่น่ากลัวกว่าที่คิด

108 ปัญหากับหมอรามาฯ : โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 โรคระบาดใกล้ตัวที่น่ากลัวกว่าที่คิด
2018-08-23 14:00:23

ไข้หวัดใหญ่เป็นอีกโรคหนึ่งที่มีชื่อคล้ายไข้หวัดแต่มีความรุนแรงมากกว่า อาจทำให้เสียชีวิตได้ถ้าไม่ป้องกัน ไข้หวัดใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส ถูกแบ่งออกเป็นชนิด A, B เเละ C โดยสายพันธุ์ที่มีชื่อเรียกว่า H1N1 เป็นชนิด A มักมีการระบาดในฤดูฝนและฤูดูหนาว ในทุกๆปีจะมีการรายงานถึงจำนวนผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดใหญ่โดยเฉพาะสายพันธุ์ H1N1 ที่เพิ่มมากขึ้น โดยปีนี้มีสถิติผู้ป่วยจากโรคไข้หวัดใหญ่จำนวนไม่น้อย


ภาพ Jarun Ontakrai  / Shutterstock.com



สำหรับการระบาดของไข้หวัดใหญ่ชนิด A สายพันธุ์ H1N1 เริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. 2009 โดยมีการระบาดในทวีปอเมริกาเหนือที่ประเทศเม็กซิโกหลังจากนั้นจึงมีการระบาดไปทั่วโลก ต่อมาเชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้ได้กลายมาเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดตามฤดูกาล โดยจะพบในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว สำหรับประเทศไทยพบว่ามีผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์นี้ในทุกๆ ปี นับตั้งแต่ ค.ศ. 2009 เป็นต้นมา


ภาพ MIA Studio / Shutterstock.com

ไข้หวัดใหญ่ ติดต่อผ่านทางระบบทางเดินหายใจ โดยเชื้อจะอยู่ในน้ำมูก เเละน้ำลาย หากผู้ป่วยไอหรือจามแล้ว เเล้วเราเข้าไปใกล้หายใจเอาละอองฝอยเข้าไป ก็จะมีโอกาสรับเชื้อได้ อาการของโรคไข้หวัดใหญ่จะประกอบไปด้วยไข้สูง อาการทางระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ จาม หรือมีน้ำมูก อาจมีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว และอาจมีอาการในระบบทางเดินอาหารร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน วิธีการสังเกตเพื่อแยกระหว่างไข้หวัดทั่วไปและไข้หวัดใหญ่โดยง่ายก็คือ อาการของไข้หวัดใหญ่มักมีไข้สูงเเละปวดเมื่อยตามตัวค่อนข้างมาก




ภาพ Mega Pixel / Shutterstock.com

โดยทั่วไปผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ไม่มีโรคประจำตัวจะสามารถหายได้เองโดยไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ เเต่หากพบว่าอาการไข้ 2-3 วันแล้วยังไม่ทุเลาหรือมีอาการแย่ลง ควรรีบพบแพทย์ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ โดยแพทย์จะให้การรักษาด้วยยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ สิ่งที่ควรระวังคือ ในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง เมื่อได้รับเชื้ออาจทำให้เกิดภาวะเเทรกซ้อน เช่น อาการลุกลามจนเป็นปอดติดเชื้อ หรือมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติม ทำให้มีอาการรุนเเรงมากขึ้นได้ ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเเทรกซ้อนดังกล่าวได้แก่ “ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต โรคปอด โรคเบาหวาน โรคสมอง ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือได้รับยากดภูมิ หรือผู้ป่วยที่มีดัชนีมวลกาย 40 กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไป” ผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับยาภายใน 48 ชั่วโมง ซึ่งจะช่วยลดอัตราการเกิดภาวะเเทรกซ้อนเเละลดอัตราตายจากโรคดังกล่าว



ภาพ MIA Studio / Shutterstock.com

การรักษาวิธีอื่นๆของโรคนี้ประกอบด้วยการรักษาเเบบประคับประคอง การพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ และทานอาหารที่มีประโยชน์ นอกจากนั้นควรป้องกันการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น โดย การสวมหน้ากากอนามัย ปิดปากเมื่อไอหรือจามและล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่หรือเจลฆ่าเชื้อโรคเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น หากทำงานหรือเรียนหนังสืออยู่ควรพิจารณาลาพักในช่วง 1-2 วันเเรก เพื่อลดการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นด้วย




ภาพ Rost9 / Shutterstock.com

สำหรับการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สามารถทำได้โดยพยายามหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ผู้ที่ป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ และไม่ควรใช้ของร่วมกับผู้อื่น การรับประทานอาการ ควรใช้ช้อนกลางในการตักอาหาร ทานอาหารปรุงสุกใหม่ รวมถึงการล้างมือให้สะอาดเป็นประจำเพื่อป้องกันการติดเชื้อที่กระจายอยู่รอบตัว

“นอกจากนี้การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกทียังสามารถป้องกันการติดเชื้อได้อีกด้วย โดยแพทย์จะเน้นย้ำผู้ป่วยในกลุ่มเสี่ยง ในการเกิดภาวะเเทรกซ้อนดังกล่าวข้างต้น ทั้งนี้สำหรับประชาชนทั่วไปก็สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้้หวัดใหญ่ได้เช่นกัน”



อ.นพ.จักรพงษ์ บรูมินเหนทร์



สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล