เจ็ดสิบปีมีพระองค์ทรงเคียงข้าง
ถ้วนทุกอย่างที่พระองค์ทรงเกื้อหนุน
ต่อแต่นี้ไม่มีแล้วร่วมใบบุญ
ขอผลบุญสถิตสวรรค์นิรันดร์เทอญ


น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้
ข้าพระพุทธเจ้า คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่
บริษัท ดีเอ็น บรอดคาสท์ จำกัด

พระราชลัญจกร ประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๙
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

เป็นรูปพระที่นั่งอัฐทิศ ประกอบด้วยวงจักร กลางจักรมีอักขระเป็น อุ หรือ เลข ๙ รอบวงจักรมีรัศมีเปล่งโดยรอบ เหนือจักรเป็นรูปเศวตฉัตรเจ็ดชั้น ฉัตรตั้งอยู่บนพระที่นั่ง อัฐทิศ แปลความหมายว่า ทรงมีพระบรมเดชานุภาพในแผ่นดิน โดยมีวันพระบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณี ได้เสด็จประทับเหนือพระที่นั่ง อัฐทิศ สมาชิกรัฐสภาถวายน้ำอภิเษกจากทิศทั้งแปด นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย ทรงรับน้ำอภิเษกจากสมาชิกรัฐสภาแทนที่จะทรงรับจากราชบัณฑิต ดั่งในรัชกาลก่อน

ธงประจำพระองค์

ธงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นธงพื้นสีเหลือง อันเป็นสีประจำพระชนมวาร (เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๐) กลางธงมีตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์ซึ่งปกติเป็นตราพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. ภายใต้อุณาโลมและพระมหาพิชัยมงกุฎเปล่งรัศมี โดยรูปอักษร "ภ" เป็นสีเหลือง (หมายถึง สีประจำวันเสด็จพระราชสมภพ) "ป" สีน้ำเงิน (หมายถึง สีพระมหากษัตริย์) และ "ร" สีขาว (หมายถึง สีประจำพระชนมวาร) ปัจจุบันพ้นสมัยการใช้งานแล้ว

ธงประจำพระองค์ในวาระพิเศษ 

ธงพระอิสริยยศสำหรับองค์พระมหากษัตริย์

ธงชั้นนี้เรียกชื่อว่า "ธงมหาราช" แบ่งเป็น ๒ ชนิด ได้แก่

ธงมหาราชใหญ่ 

มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส พื้นธงสีเหลือง มีรูปครุฑพ่าห์สีแดงอยู่ตรงกลาง.

ธงมหาราชน้อย 

แบ่งตามความยาวออกเป็น 2 ตอน ตอนต้นมีลักษณะและสีอย่างเดียวกับธงมหาราชใหญ่ แต่กว้างไม่เกิน ๖๐ เซนติเมตร ตอนปลายมีลักษณะเป็นชายต่อสีขาวแปลงเป็นรูปธงยาวเรียวโดยให้ปลายสุดกว้าง ครึ่งหนึ่งของตอนต้น ปลายธงตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ลึก ๓ ใน ๘ ส่วนของความยาวของผืนธง ความยาวของผืนธงเป็น ๘ เท่าของความกว้างของตอนต้น ธงนี้ถ้าชักขึ้นแทนธงมหาราชใหญ่ หมายความว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้งดการยิงสลุตถวายคำนับ